วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

คิม ฟุค ฉันพบว่าการบ่มเพาะความเกลียดเอาไว้สามารถฆ่าฉันได้

คิม ฟุค --- ฉันพบว่าการบ่มเพาะความเกลียดเอาไว้สามารถฆ่าฉันได้
ชีวิตของผู้หญิงที่ชื่อ "คิม ฟุค" สะท้อนชีวิตที่โหดร้ายภายใต้กำลังใจทีเข้มแข็ง
เธอ ชื่อ ' คิม ฟุค ' (Kim Phuc is Her Name)
แปลว่า 'ความสุขดุจทองคำ' (Golden Happiness)
เธอเกิดที่ Trang Bang ตะวันตกเฉียงเหนือกรุงไซ่ง่อนในเวียตนามใต้ เมื่อ พ.ศ.2506
เวลา บ่าย ๒ โมง วันที่ 8 มิถุนายน 2515 ระเบิดไฟนาปาล์ม 4 ลูก ถูกทิ้งลงที่บ้านเธอ
 
ขณะนั้น คิม ฟุค มีอายุ 9 ขวบ ระเบิดเพลิงตกใส่เธอ เธอถอดเสื้อผ้าที่ไฟกำลังลุกออกแต่ไฟยังคงไหม้บนตัวเธอ
ผู้คนช่วย ราดน้ำบนตัวเธอ เพื่อดับไฟที่กำลังลุกไหม้อยู่บนตัวเธอ จนเธอหมดสติไป
Huynh Cong (Nick) Ut ช่างภาพ ช่วยพาเธอส่งโรงพยาบาล
     คอยให้กำลังใจเธอเสมอในยามที่เธอทุกข์ทรมานแต่เธอต้องทนทุกข์ทรมานจากบาดแผลไฟไหม้กว่าครึ่งตัวหมอศัลยกรรมพลาสติค Dr. Mark Gorney จาก San Francisco อาสาสมัครประจำอยู่ที่ โรงพยาบาลศัลยกรรมเด็ก Barksy ในกรุงไซ่ง่อนกล่าวว่า "เธอไม่น่าจะอยู่รอดได้ ตอนแรกคางของเธอเชื่อมติดกับหน้าอกโดยเนื้อเยื่อจากแผลเป็นแขนซ้ายของเธอไม้จนถึงกระดูก" แม้เธอจะรอดตายจากระเบิดนาปาล์มที่ทิ้งลงหมู่บ้านของเธอ แต่ไฟก็ได้เผาลวกผิวหนังของเธอถึง 65 เปอร์เซ็นต์เธอต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลถึง 14 เดือน และผ่านการผ่าตัดถึง17 ครั้งกว่าจะหายเป็นปรกติ
     เธอยังโชคดีเมื่อเทียบกับลูกพี่ลูกน้องอีก 2 คน ซึ่งตายเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหวด้วยความรักของแม่ที่คอยดูแลอยู่ข้างเตียง เธอค่อย ๆ ฟื้นตัวและตัดสินใจว่าโตขึ้นเธอจะเป็นหมอเหมือนผู้ที่ช่วยชีวิตเธอ หลังจากรักษาตัวอยู่ 2 ปี เธอจึงได้กลับบ้าน
 
ภาพของเธอ ที่ Nick Ut ถ่ายไว้ ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกและได้รับรางวัล Pulitzer ในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2516
     ด้วยรางวัลดังกล่าวช่วยเปลี่ยนชีวิตของเธอและ Nick Ut และเวียตนามใต้ก็ถูกปกครองโดยคอมมิวนิสต์ ในปี พ.ศ. 2518 ชื่อของกรุงไซ่ง่อนถูกเปลี่ยนเป็นโฮจิมินห์ ก็ไม่มีข่าวคราวของเธอปรากฏสู่โลกภายนอกอีกเลยแต่แล้ววันหนึ่งในปี 2539 คิม ฟุค ก็ได้มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าชาวอเมริกันซึ่งเคยผ่านสมรภูมิเวียดนาม เธอได้รับเชิญ
     ให้มาพูดเนื่องในโอกาสวันทหารผ่านศึก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. การได้มาเผชิญหน้ากับกลุ่มคนซึ่งครั้งหนึ่งเคยมาทำลายบ้านเกิดเมืองนอนของ เธอ ทำให้ญาติพี่น้องของเธอต้องตาย และเกือบฆ่าเธอให้ตายไปด้วยนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำใจได้ง่ายนักแต่เธอมาก็เพื่อจะบอกให้พวกเรารู้ว่า สงครามนั้นได้ก่อความทุกข์ทรมานแก่ผู้คนอย่างไรบ้าง
     หลังจากที่เล่าถึงประสบการณ์อันเจ็บปวดของเธอแล้ว เธอก็ได้เผยความในใจว่า มีเรื่องหนึ่งที่เธออยากจะบอกต่อหน้านักบินที่ทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้านของเธอ
     พูดมาถึงตรงนี้ก็มีคนส่งข้อความมาบอกว่า คนที่เธอต้องการพบกำลังนั่งอยู่ในห้องประชุมนี้ เธอจึงเผยความในใจออกมาว่า "ฉันอยากบอกเขาว่า เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้ แต่เราควรพยายามทำสิ่งดี ๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต"
     เมื่อเธอบรรยายเสร็จ ลงมาจากเวที อดีตนักบินที่เกือบฆ่าเธอก็มายืนอยู่เบื้องหน้าเธอเขามิใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นศาสนาจารย์ประจำโบสถ์แห่งหนึ่ง เขาพูดด้วยสีหน้าเจ็บปวดว่า "ผมขอโทษ ผมขอโทษจริง ๆ" คิมเข้าไปโอบกอดเขาแล้วตอบว่า "ไม่เป็นไร ฉันให้อภัย ฉันให้อภัย"
     ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะให้อภัย โดยเฉพาะกับคนที่ทำร้ายเราปางตาย คิม ฟุค เล่าว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความทุกข์ ทรมานแก่เธอทั้งกายและใจ จนเธอเองก็ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร แต่แล้วเธอก็พบว่าสิ่งที่ทำร้ายเธอจริง ๆ มิใช่ใครที่ไหนหากได้แก่ความเกลียดที่ฝังแน่นในใจเธอนั่นเอง
     "ฉันพบว่าการบ่มเพาะความเกลียดเอาไว้สามารถฆ่าฉันได้" 

     เธอพยายามสวดภาวนาและแผ่เมตตาให้ศัตรู และแก่คนที่ก่อความทุกข์ให้เธอ แล้วเธอก็พบว่า
"หัวใจฉันมีความอ่อนโยนมากขึ้น เรื่อย ๆ เดี๋ยวนี้ฉันสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องเกลียด"
 
     เราไม่อาจควบคุมกำกับผู้คนให้ทำดี หรือไม่ทำชั่วกับเราได้ แต่เราสามารถควบคุมกำกับจิตใจของเราได้ เราไม่อาจเลือกได้ว่ารอบตัวเราต้อง มีแต่คนน่ารักพูดจาอ่อนหวาน แต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะทำใจอย่างไรเมื่อประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา คิม ฟุค ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองว่า  "ฉันน่าจะโกรธ แต่ฉันเลือกอีกทางหนึ่ง แล้วชีวิตของฉันก็ดีขึ้น"
     บทเรียนของ คิม ฟุค คือ ในเมื่อเราเปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้ เราจึงไม่ควรปักใจอยู่กับอดีต แต่เราสามารถเรียนรู้จากอดีตเพื่อทำปัจจุบันและอนาคตให้ดีขึ้นได้ บทเรียน จากอดีตอย่างหนึ่งที่เธอได้เรียนรู้มาก็คือ "การอยู่กับความโกรธ เกลียด และความขมขื่นนั้น ทำให้ฉันเห็นคุณค่าของการให้อภัย"


- -Forward Mail- -

วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หากโลกนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม...

หากโลกนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม...

สวัสดีปีใหม่ครับ

ขอต้อนรับทุกคนเข้าสู่ปีใหม่ ด้วยบล็อกทบทวนว่าปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ทั้งนี้สมมติว่าโลกเพิ่งกำเนิดเมื่อต้นปี วันที่ 1 ม.ค.นะครับ


ทาง โบราณคดีแบ่งโลกเป็น 3 มหายุค (era) แต่ละมหายุคแบ่งออกเป็นยุค (period) และแต่ละยุคแบ่งออกเป็นสมัย (epoch) ตามเหตุการณ์ทางธรณีและชีววิทยา ดังนั้นแต่ละมหายุคจึงมีระยะเวลาไม่เท่ากันครับ




มหายุคทั้งสาม Paleozoic, Mesozoic และ Cenozoic ตามลำดับ แต่ละยุคมีระยะเวลาไม่เท่ากัน (Click เพื่อขยายภาพ)



ก่อนมหายุคทั้งสามเรียกว่า Pre-cambrian ซึ่งกินเวลายาวนานราว 4,000 ล้านปีหรือราว 11 เดือนกว่าๆ

มหายุคที่ 1 คือมหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic era) ซึ่งแบ่งเป็นยุคย่อยๆดังนี้

๐ ยุคแคมเบรียน (Cambrian peroid)
๐ ยุคออร์โดวีเชียน (Ordovician period)
๐ ยุคไซลูเรียน (Silurian period)
๐ ยุคดีโวเนี่ยน (Devonian period)
๐ ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferus period)
๐ ยุคเปอร์เมี่ยน (Permian period)


มหายุคที่ 2 คือมหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic era) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ยุคดังนี้

๐ ยุคไทรแอสซิก (Triassic Period)
๐ ยุคจูแรสซิก (Jurassic Period)
๐ ยุคครีเทเชียส (Cretaceous Period)


มหายุคที่ 3 คือมหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic era) แบ่งเป็น 2 ยุค

๐ ยุคเทอร์เทียรี (Tertiary Period)
๐ ยุคควอเทอร์นารี(Quaternary Period)





เปรียบเทียบเหตุการณ์ตามมาตรกาลเวลา ย่นย่อ 4,600 ล้านปีให้เหลือเพียง 1 ปี (Click เพื่อขยายภาพ)



วันที่ 1 ม.ค. กำเนิดโลก
4,600 ล้านปีที่แล้ว


เมื่อ โลกถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรก มันดูแตกต่างจากตอนนี้อย่างสิ้นเชิง คล้ายลูกกลมของก๊าซที่ร้อนระอุ เต็มไปด้วยลาวาและเปลวเพลิง ต้องใช้เวลาอีกหลายล้านปี ผิวนอกของโลกจึงค่อยๆเย็นลงและแข็งตัวกลายเป็นลูกหินขนาดยักษ์ กระนั้นก็ยังเต็มไปด้วยลาวาและทะเลเพลิงที่ลุกโหม

บรรยากาศในช่วงแรก ประกอบด้วยก๊าซไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนียและมีเทน ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาสันดาปภายในและบนผิวโลก ไม่มีน้ำอยู่เลย หรือแม้แต่ออกซิเจนก็มีน้อยมากๆ ต้องคอยอีกหลายร้อยล้านปีจึงจะมีมากพอที่จะวัดค่าได้

แล้วน้ำมาจากไหน

ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าน้ำมาจากอุกกาบาตครับ (หรือบ้างก็ว่าเกิดจากปฏิกิริยาระหว่าง H2 และ O2 แต่อย่างที่บอกไป O2 ในยุคแรกของโลกมีน้อยยิ่งกว่ายิ่งครับ) โลกในยุคแรกปราศจากชั้นบรรยากาศ จึงเปรียบเสมือนเป้าชั้นดีให้เหล่าเทวดายิงอุกกาบาตเล่น อุกกาบาตที่พุ่งชนผิวโลกจำนวนมากมายมหาศาลเพิ่มเนื้อมวลให้โลกและนำน้ำมา เติมเต็มให้โลกนี้ด้วย เมื่อตกกระทบผิวโลกที่ร้อนระอุ น้ำก็ระเหยเป็นไอน้ำอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นชั้นบรรยากาศยุคแรก

ไอน้ำ ที่มีปริมาณมหาศาลจนอิ่มตัวบนชั้นบรรยากาศก็มีอันต้องควบแน่นเป็นหยดน้ำ ตกลงมาเป็นฝน เมื่อน้ำฝนตกสู่ผิวโลกที่ยังคงร้อนมากก็ระเหยกลายเป็นไอน้ำกลับสู่ชั้น บรรยากาศอีก ตกกลับมาฝน วนเวียนเช่นนี้ไม่รู้จบเกิดเป็นฝนที่ยาวนานที่สุดใน(ก่อน)ประวัติศาสตร์ กระบวนการดังกล่าวช่วยลดอุณหภูมิของโลกลงอย่างเรื่อยๆ

สุดท้ายเมื่อ อุณหภูมิของโลกเย็นลงพอ มหาสมุทรก็เกิดขึ้น การเกิดมหาสมุทรนี้เป็นขั้นตอนสำคัญยิ่ง เนื่องจากมหาสมุทรเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดชีวิตทั้งปวงครับ




โลกในยุคแรกเต็มไปด้วยอุกกาบาตที่ตกลงมาบนพื้นผิวที่ลุกเป็นไฟ



วันที่ 15 มี.ค. กำเนิดสิ่งมีชีวิต
3,600 ล้านปีที่แล้ว


ทะเล ในยุคแรกต่างจากทะเลในยุคปัจจุบันรวมไปถึงทะเลที่ชาวหว้ากอชอบออกกันบ่อยๆ อย่างมาก องค์ประกอบของแร่ธาตุที่ต่างจากปัจจุบัน รสชาติก็น่าจะออกเปรี้ยวมากกว่าเค็ม ต้องรอหลายล้านปีกว่าที่แร่ธาตุจะถูกชะล้างลงมาสะสมกันมากพอจนทะเลมีรสชาติ ออกเค็ม

ทะเลในยุคแรกมีแร่ธาตุหลายชนิดละลายปะปนกันอยู่จำนวนมาก ทั้งคาร์บอน ไนโตรเจน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ซัลเฟอร์ และโลหะหนัก เนื่องจากในช่วงแรกบรรยากาศโลกขาดแคลนทั้งออกซิเจนและโอโซน จึงแทบจะปราศจากตัวดูดซับรังสี UV จากดวงอาทิตย์ รังสี UV ที่ทะลุทะลวงลงไปในโลกท้องทะเลเป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาเคมีชั้นดีร่วมกับ สภาวะอื่นๆเช่น ความร้อน ความดัน ทำให้ทะเลเปรียบเสมือนห้องครัวที่ผลิตสารเคมีซับซ้อนหลายชนิดอย่างน่า อัศจรรย์ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นน้ำซุปแห่งชีวิต (primordial soup)

ด้วย เหตุนั้น ชีวโมเลกุลง่ายๆจึงเริ่มบังเกิดขึ้นครั้งแรกบนโลกนี้ ทั้งน้ำตาล นิวคลีโอไทด์ กรดไขมันและกรดอะมิโน สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่แม้แต่นักชีววิทยาในปัจจุบันก็ ยังไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด โมเลกุลเหล่านั้นเกิดการรวมตัวเป็นสายยาว อยู่ร่วมกันและสามารถจำลองแบบและเพิ่มจำนวนได้ด้วยตนเอง (central dogma DNA --> RNA --> Protein คำถามที่ยังเป็นปริศนาในปัจจุบันคือกระบวนการที่สารเคมีดังกล่าวมารวมตัวกัน แล้วทำให้เกิด central dogma นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ทฤษฎีที่น่าเชื่อถือที่สุดกล่าวว่า ในยุคแรก RNA น่าจะเป็นสารพันธุกรรมแทนที่จะเป็น DNA เนื่องจาก RNA มีคุณสมบัติทั้งเป็นข้อมูลพันธุกรรม (genetic information) และตัวเร่งปฏิกิริยา (enzyme) ได้ในตัวเอง อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวค่อนข้างซับซ้อนและจะไม่พูดถึงในที่นี้ หากสนใจ อ่านเพิ่มเติมได้ใน reference ที่ผมอ้างอิงได้ครับ)

กลุ่มสารเคมีที่ สามารถจำลองและเพิ่มจำนวนตนเองได้อยู่ร่วมกันในโครงสร้างที่มี lipid bilayer ล้อมรอบ ด้วยเหตุนี้เซลล์ในยุคแรกก็เกิดขึ้น จากนั้นสิ่งอัศจรรย์อื่นๆก็ตามมาเมื่อเซลล์เหล่านั้นวิวัฒน์ตัวเองให้สามารถ อยู่รอดได้นานขึ้น ถ่ายทอดข้อมูลพันธุกรรมของตนเองต่อไปได้ไม่รู้จบ ทั้งการฟอร์มถุงเล็กๆภายในเซลล์เพื่อกักเก็บโปรตีนบางชนิดที่ทำหน้าที่เฉพาะ การรวมกลุ่มกันของสารพันธุกรรมให้มีโครงสร้างและหน้าที่จำเพาะ หรือการ “กลืนกิน” เซลล์ขนาดเล็กกว่าแล้วเกิดการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยเช่น ไมโทครอนเดรีย หรือแม้แต่การพัฒนา “เพศ” ก็เกิดในยุคนี้เช่นกัน รังสี UV จากดวงอาทิตย์ทำให้การกลายพันธุ์ของเซลล์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

สิ่งมีชีวิต ในยุคแรกใช้พลังงานในการดำเนินกิจกรรมภายในเซลล์โดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วย แสง (photosynthesis) ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำได้ผลผลิตเป็นคาร์โบ ไฮเดรตและก๊าซออกซิเจน กิจกรรมดังกล่าวทำให้เกิดก๊าซออกซิเจนปลดปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ สิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตทั้งมวลบนโลกในยุคถัดไป




รูปแสดงวิวัฒนาการของเซลล์



(กิจกรรม ของเหล่าโปรคาริโอต (สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีเยื่อหุ้มออร์แกแนลล์) และเหล่ายูคาริโอต (สิ่งมีชีวิตที่มีเยื่อหุ้มออร์แกแนลล์) ในยุคแรกมีความซับซ้อนและมีรายละเอียดที่น่าสนใจมากกว่านี้ครับ จขบ.แนะนำว่าควรอ่านหนังสือเพิ่มเติม หากมีความสนใจในเรื่องนี้)


วันที่ 16 พ.ย. ยุคแคมเบรียน (Cambrian peroid)
570 ล้านปีที่แล้ว


ไม่ น่าเชื่อที่ทะเลถูกครองด้วยเหล่าสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวและสิ่งมีชีวิตหลาย เซลล์ที่ไม่ซับซ้อนยาวนานกว่าสามพันล้านปี ก่อนที่จะเกิด “ระเบิด” ทางชีวภาพ นักชีววิทยาต่างพากันฉงนที่จู่ๆสิ่งมีชีวิตทุกไฟลัม (ยกเว้น phylum bryozoa) ก็เกิดอุบัติมาพร้อมๆกันในช่วงเวลาเดียวกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า Cambrian explosion หรือ Biological Big Bang ครับ

ยุคแคมเบรียนเป็นยุคที่จู่ๆก็มีสิ่งมีชีวิตบังเกิดขึ้นมากมาย ทั้งหน้าตาก็ล้วนแปลกประหลาดอัศจรรย์ทั้งสิ้น ครั้งแรกฟอสซิลของพวกมันถูกขุดค้นพบในเหมืองร้างอีเดียคาร่า (Ediacara) ทั้งหมด พวกมันจึงถูกเรียกว่า “สิ่งมีชีวิตจากอีเดียคาร่า” ครับ (แม้ในกาลต่อมาจะถูกค้นพบฟอสซิลในบริเวณอื่นๆของโลกก็ตาม)

สิ่งมีชีวิตแห่งอีเดียคาร่ามีอะไรบ้าง จะลองยกตัวอย่างดูนะครับ




เริ่มต้นด้วยเจ้าไทรโลไบต์ (Trilobites) ซึ่งแพร่กระจายครอบครองมหาสมุทรแทบทุกบริเวณบนโลกนี้ ลักษณะคล้ายแมงดาทะเลหรือกิ้งกือทะเลตัวแบนที่มีร่างเป็นข้อปล้องและระยางค์ จำนวนมากด้านล่างเก็บกินซากอินทรีย์ใต้พื้นทะเล




คาร์เนีย (Charnia) หนอนใบไม้ที่พบกระจัดกระจายทั่วท้องทะเลไม่แพ้ไทรโลไบต์ นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่าใบไม้ของมันทำหน้าที่คล้ายซี่หวีกรองอาหารครับ




โอปาบีเนีย (Opabenia) หนอนทะเลที่มีดวงตาห้าดวง ขากรรไกรรูปคีม นักล่ายุคแรกๆแห่งทะเลโบราณ




ฮัลลูซิจีเนีย (Hallucigenia) หนอนทะเลที่มีเดือยแหลมเจ็ดคู่ไว้ป้องกันตัวจากนักล่า หน้าตาของมันชวนให้ผู้เห็นคิดว่านี่เราประสาทหลอน (Hallucination) ไปหรือเปล่านะ




ตัวสุดท้ายที่จะยกตัวอย่างคือ เจ้าพิคาเอีย (Pikaia) บรรพบุรุษของพวกทั้งมวลในปัจจุบัน เนื่องจากมันเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่มีอวัยวะเป็นแกนสันหลังหรือโนโตคอร์ด (notocord) นั่นเองล่ะครับ

กล่าว โดยสรุป สิ่งมีชีวิตในยุคแคมเบรียนอาจแบ่งได้อย่างง่ายๆเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ที่น่าสังเกตคือยังไม่มีพืชชั้นสูงเกิดขึ้นเลยในยุคนี้

(1) กลุ่มสาหร่าย ผู้ผลิตออกซิเจนสู่ชั้นบรรยากาศโดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง
(2) กลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ต้องหากินอาหารจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตามที่ยกตัวอย่างมาแล้ว
(3) กลุ่มแบคทีเรียที่มีโครงสร้างและการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายที่ยังมีอยู่ถึงในปัจจุบัน


Cambrian explosion เปรียบเสมือนบทโหมโรงของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลในยุคต่อๆมา เนื่องจากเป็นยุคแรกที่สิ่งมีชีวิตมีตา (แม้จะเป็นตาประกอบและประสิทธิภาพก็ยังอาจจะด้อยกว่าแมลงวัน) ทำให้ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ได้เห็นโลกนี้อย่างที่มันควรจะเป็น จากเดิมที่ต้องคลำทางหาอาหารแบบสะเปะสะปะ นักล่า เหยื่อ การแข่งขัน การคัดเลือกเพื่อการอยู่รอดเริ่มขึ้นอย่างจริงจังก็เริ่มต้นขึ้น ณ บัดนี้ครับ


หากโลกนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม... (2)

21 พ.ย. ยุคออร์โดวีเชียน (Ordovician period)
510 ล้านปีที่แล้ว


ถึง แม้บรรยากาศจะเริ่มมีก๊าซออกซิเจนแล้ว ก็ยังไม่มีสิ่งมีชีวิตอาจหาญขึ้นบก เนื่องจากผนังโอโซนที่ยังบางเบาไม่สามารถกรองรังสี UV ได้มากพอ ต้องรอไปถึงปลายยุคดีโวเนี่ยนนู่นเลยครับ กว่าจะมีสิ่งมีชีวิตที่ซ่าขึ้นตะลุยแผ่นดิน ดังนั้นทะเลก็ยังคงเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล

ต้นยุคออร์โดวี เชียนเกิดเหตุการณ์สำคัญคือการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกอันเนื่องมาจากการ เคลื่อนตัวของเปลือกโลก ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นจนเกิดพื้นที่ตื้นเขินจำนวนมาก ซึ่งสิ่งมีชีวิตก็ไม่รอช้าที่จะแพร่ขยายไปครอบครองพื้นที่ดังกล่าว เกิดแนวปะการังทั่วทุกชายฝั่งทะเล

สัตว์จำพวกหนอนทะเลต่างพากันสูญ พันธุ์ไปจนหมดสิ้น ขณะที่ตัวไทรโบไลต์ยังคงมีให้เห็นเต็มไปหมด และยังวิวัฒนาการเพิ่มขนาดตัวเองให้ใหญ่โตขึ้นอีกต่างหาก

ออร์โดวีเชียนเป็นยุคของหอยและปลาหมึก (Cephalopods) และสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังครับ





วันที่ 27 พ.ย. ยุคไซลูเรียน (Silurian period)
439 ล้านปีที่แล้ว


ปลาไม่มีขากรรไกรและมีเกราะหุ้มหัว (ostracoderm) เกิดขึ้นครั้งแรกในยุคนี้ สัตว์อีกตัวที่น่าสนใจก็คือแมงป่องยักษ์แห่งท้องทะเล (Eurypterids) ซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 2 เมตรและใช้ก้ามขนาดมหึมาในการล่าเหยื่อ นับเป็นฝันร้ายของปลาขนาดเล็กในยุคนั้น




ostracoderm ไม่มีขากรรไกรและมีเกราะหนา ปากที่ไม่มีขากรรไกรใช้วิธีดูดหาอาหารตามพื้นท้องทะเล





Eurypterids แมงป่องยักษ์นักล่าแห่งท้องทะเล



ปลา ไม่มีขากรรไกรเป็นสัตว์ที่ดูเทอะทะ เนื่องจากมันต้องแบกเกราะหนักเหมือนนักรบติดตัวไปด้วย เพื่อประโยชน์ในการป้องกันแต่ก็เป็นข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ทำให้เคลื่อนที่ได้ช้ามาก อีกทั้งยังไม่มีครีบข้างด้วย (ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายล้านปีกว่าจะวิวัฒนาการมันขึ้นมา)





ในปลายยุคนี้ ปลามีขากรรไกร (placoderm) วิวัฒนาการขึ้นมาแทนที่ ขากรรไกรได้เปลี่ยนลักษณะการกินอาหารของปลาจากเดิมที่เคย “ดูด” ก็เปลี่ยนเป็น “งับ” แทน เกราะที่เคยหนาหนักก็เปลี่ยนเป็นเกราะเบาซึ่งจะเป็นต้นแบบของเกล็ดปลาในเวลา ต่อมา

ที่น่าสนใจคือ ในยุคนี้พืชได้พัฒนาระบบท่อลำเลียง (psilopid) และรุกคืบไปบนบก ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของโลกในเวลาต่อมาครับ


วันที่ 30 พ.ย. ยุคดีโวเนี่ยน (Devonian period)
408 ล้านปีที่แล้ว


ยุคดี โวเนี่ยนคือยุคแห่งปลาอย่างแท้จริง เนื่องจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกทำให้พื้นทะเลถูกดันขึ้นสูงเป็นภูเขา ในขณะที่พื้นดินทรุดตัวกลายเป็นก้นทะเล พวกปลาจึงได้วิวัฒนาการแตกแขนงออกไปมากมายทั้งปลาน้ำจืดและน้ำเค็ม ปลามีขากรรไกรเข้ามาแทนที่ปลาไม่มีขากรรไกร และยังปรากฏปลากระดูกอ่อน (chondrichthyes) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของปลาฉลาม และปลากระดูกแข็ง (osteichthyes) ตามมาอีกด้วย

บรรยากาศโลกที่ร้อนมากขึ้นทำให้แม่น้ำ บางแห่งเหือดแห้งลง ปลาบางชนิดพัฒนาถุงลมเพื่อช่วยในการหายใจและการลอยตัวในน้ำ ปลาบางชนิดพัฒนาครีบเพื่อเคลื่อนไหวบนพื้นดินซึ่งจะวิวัฒนาการเป็นสัตว์ ครึ่งบกครึ่งน้ำในเวลาต่อมา

ขณะเดียวกัน ปริมาณรังสีที่ลดลงเนื่องจากชั้นโอโซนที่หนาแน่นมากขึ้น ทำให้เหล่าพืชเริ่มก้าวขึ้นไปบนบกตามเห็ดราที่ได้บุกเบิกไปก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่ใช่ของง่าย พวกมันต้องพัฒนาผนังเซลล์ที่หนาเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ พัฒนาระบบค้ำจุนเพื่อต้านทานแรงโน้มถ่วงของโลก พัฒนาใบเพื่อให้รับแสงแดดได้เต็มที่ พัฒนายุทธวิธีหายใจ (Stomata--รูปากใบ) เพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในโครงสร้าง และพัฒนาระบบรากที่สลับซับซ้อนเพื่อค้ำจุนและเจาะทะลุพื้นดินเพื่อหาแหล่ง น้ำและแร่ธาตุ เหล่าพืชยุคบุกเบิกที่มีพลังชีวิตที่เข้มแข็งและผ่านการปรับตัวต่างๆนานา เท่านั้นที่จะผงาดยืนอยู่บนบกได้ อย่างไรก็ตาม พืชในยุคดีโวเนียนยังคงเป็นพืชโบราณที่แพร่พันธุ์โดยใช้สปอร์เป็นหลัก ขณะที่พืชมีเมล็ดก็พบได้บ้างและมีข้อได้เปรียบในการสืบพันธุ์มากกว่าครับ




ท้องทะเลในยุคดีโวเนี่ยนถูกครอบครองด้วยปลา



ขณะ ที่ในทะเลถูกเหล่าปลามีขากรรไกรยุคแรกยึดครอง ชายทะเลที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยเศษซากอินทรีย์ต่างๆก็เรียกให้เหล่าแมลง (Arthropods) หรือสัตว์ที่มีข้อปล้องรุกคืบขึ้นบนบก กิ้งกือ ตะขาบ ปู กุ้ง แมงดาทะเล เป็นสิ่งมีชีวิตทัพแรกที่อาจหาญขึ้นบก เก็บกินซากสวะที่ถูกพัดพามาด้วยลมทะเล ขยะที่เปียกชุ่มทำให้พวกมันไม่ต้องกลัวว่าผิวหนังจะหแง และค่อยๆวิวัฒนาการให้ร่างกายทนต่อความแห้งแล้งบนบกได้มากขึ้น ขาแบบข้อปล้องทำให้มันรับน้ำหนักของร่างกายได้โดยไม่ต้องอาศัยน้ำในการพยุง ตัว

ในทะเลเต็มไปด้วยปลาที่แก่งแย่งอาหารกัน ส่วนบนบกเต็มไปด้วยแมลง กดดันให้เกิดสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำวิวัฒนาการขึ้นมาหาอาหารจำพวกแมลงบนบก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในยุคแรกยังคงมีร่องรอยของปลาเหลืออยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นช่องเหงือก ครีบหาง ขาที่พัฒนามาจากครีบข้าง


วันที่ 2 ธ.ค. ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous period)
362 ล้านปีที่แล้ว


ยุคคาร์บอนิเฟอรัสรู้จักกันดีในชื่อ “ยุคถ่านหิน” เนื่องจากโลกในขณะนั้นเต็มไปด้วยป่าไม้สูงผงาด (lepidodendron สูงถึง 50 เมตร) เต็มไปหมด ซึ่งเป็นพวก คลับมอส (clubmoss) และแส้หางม้า (horse tail) เสียส่วนใหญ่ พืชเหล่านี้ยังคงขยายพันธุ์ด้วยวิธีโบราณคือใช้สปอร์

ใน แต่ละครั้งที่เกิดพายุหรือแผ่นดินไหว พืชเหล่านี้จะโค่นล้มลงมาและถมทับ ย่อยสลายภายใต้แรงอัดจากพืชที่อยู่ด้านบนแปรสภาพเป็นถ่านหินและน้ำมันเชื้อ เพลิงที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน





ขณะ เดียวกัน เหล่าแมลงก็วิวัฒนาการขึ้นมากมายทั่วผืนป่าทั้ง แมงมุม แมงป่อง ตะขาบ ตั๊กแตน แมลงปอ (ใช่แล้ว แมลงเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่เอาชนะแรงโน้มถ่วงโลก มันบินได้) และแมลงสาป (สัตว์เลี้ยงแสนรักของห้องหว้ากอ) ที่น่าประหลาดคือแมลงเหล่านี้มีขนาดมหึมาเช่นเดียวกับเหล่าพืช แมลงสาปตัวยาวเป็นฟุต แมลงปอมีปีกกว้าง 2 ฟุต ตะขาบตัวยาวกว่า 2 เมตร

สมมติฐาน ที่เป็นไปได้คือ ยุคคาร์บอนิเฟอรัส บนบกมีความอุดมสมบูรณ์ ปราศจากสัตว์ที่จะมาแก่งแย่งอาหาร อีกทั้งบรรยากาศโลกในขณะนั้นน่าจะมีก๊าซออกซิเจนหนาแน่นกว่าปัจุบัน ทำให้เหล่าแมลงเผาผลาญพลังงานได้อย่างสมบูรณ์

เหล่าสัตว์ครึ่งบก ครึ่งน้ำก็ไม่ยอมแพ้ พวกมันวิวัฒนาการให้อยู่บนบกและทนต่อความแห้งแล้งมากขึ้น สุดท้ายก็แตกแขนงแยกสายวิวัฒนาการออกไปเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งมีชัยชนะอย่างสมบูรณ์ในการอาศัยบนบก การออกไข่เป็นฟองที่มีเปลือกหุ้มแข็งแรงเก็บกักความชื้นไว้ได้เป็นข้อได้ เปรียบในการสืบพันธุ์บนบกเมื่อเทียบกับการกลับไปวางไข่บนแหล่งน้ำของสัตว์ ครึ่งบกครึ่งน้ำ


วันที่ 8 ธ.ค. ยุคเปอร์เมี่ยน (Permian period)
290 ล้านปีที่แล้ว

ยุค นี้มีความผันแปรทางกายภาพของโลกอย่างมาก มีทั้งความแห้งแล้ง และความหนาวเย็นเป็นช่วงๆ ผืนโลกเคลื่อนที่มาประกบกันเป็นแผ่นเดียวคือ แพนเจีย (Pangea) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ สัตว์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์หายไปจากโลกนี้ ทั้งพืช สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเช่น ไทรโลไบต์ ดอกไม้ทะเล สัตว์มีกระดูกสันหลังเช่น ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอีกหลายชนิด

สิ่ง มีชีวิตที่เหลือต้องปรับตัวให้เข้ากับความแปรปรวนของโลก แมลงปรับตัวให้มีขนาดที่เล็กลง มีวงจรชีวิตที่สั้นแต่ซับซ้อนเช่น metamorphosis สัตว์เลื้อยคลานวิวัฒนาการขึ้นหลากหลายมากในช่วงนี้





นักชีววิทยาได้แบ่งสัตว์เลื้อยคลานในยุคนี้ออกเป็น 4 กลุ่มคือ

(1) Anapsids เป็นพวกโบราณที่สุด ไม่มีช่องเปิดหลังดวงตา ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเต่า ตะพาบในปัจุบัน
(2) Synapsids มีช่องเปิดหลังดวงตาหนึ่งช่องและส่วนใหญ่มีแผงกระโดงที่หลัง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นต้นกำเนิดของสัตว์ที่มีขนปกคลุม (สัตว์เลือดอุ่น) ในเวลาต่อมา
(3) Diapsids มีช่องเปิดหลังดวงตาสองช่อง คือพวกจระเข้และไดโนเสาร์ซึ่งยึดครองโลกในมหายุคมีโซโซอิก
(4) Euryapsids มีช่องเปิดส่วนบนกะโหลกหนึ่งช่อง สูญพันธุ์ไปหมดสิ้นหลังจากเฟื่องฟูอย่างมากในยุคไทรแอสซิค

หากโลกนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม... (3)

วันที่ 12 ธ.ค. ยุคไทรแอสซิก (Triassic period)
245 ล้านปีที่แล้ว


จุด เริ่มต้นของมหายุคมีโซโซอิค (ยุคแห่งสัตว์เลื้อยคลาน) สัตว์เลื้อยคลานมีการวิวัฒนาการอย่างมากมายหลากหลายจนกลายเป็นสัตว์กลุ่ม เด่นในช่วงเวลานี้ ทั้งนี้บรรยากาศโลกที่ร้อนและแห้งแล้งก็เหมาะสมกับสัตว์เลือดเย็นอย่างพวก มัน ขณะเดียวกันบางพวกก็วิวัฒนาการกลับสู่ทะเล เนื่องจากบนบกเต็มไปด้วยคู่แข่งในการล่าอาหาร กิ้งก่าทะเลเหล่านี้กลายเป็นเจ้าทะเลแทนที่เหล่าปลาที่ยึดครองผืนน้ำมาเป็น เวลานาน

ส่วนพวกที่อยู่บนบกก็วิวัฒนาการกันอย่างก้าวกระโดด ทั้งพวกที่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหารรู้จักการล่าเป็นฝูง พัฒนากล้ามเนื้อขาที่ทำให้วิ่งได้อย่างว่องไว หรือพัฒนาคมเขี้ยวให้สังหารเหยื่อได้อย่างรวดเร็ว พวกที่กินพืชพัฒนาตัวเองให้มีผิวหนังหนา รูปร่างใหญ่โตเพื่อป้องกันตนเอง หรือแม้แต่การพัฒนาพังผืดให้สามารถ “ร่อน” กลางอากาศได้ก็เกิดขึ้น ไดโนเสาร์เกิดขึ้นในยุคนี้





ไดโนเสาร์ (Dinosaur) เป็นชื่อเรียกโดยรวมของดึกดำบรรพ์ในอันดับใหญ่ Dinosauria ซึ่งเคยครองระบบนิเวศน์บนพื้นพิภพ ในมหายุคมีโซโซอิก เป็นเวลานานถึง 165 ล้านปี ก่อนจะสูญพันธุ์ ไปเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลื้อยคลาน แต่อันที่จริงไดโนเสาร์เป็นสัตว์ในอันดับหนึ่งที่มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่าง สัตว์เลื้อยคลานและนก

คำว่า ไดโนเสาร์ ในภาษาอังกฤษ dinosaur ถูกตั้งขึ้นโดย เซอร์ ริชาร์ด โอเวน นักบรรพชีวินวิทยา ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นการผสมของคำในภาษากรีกสองคำ คือคำว่า deinos (ใหญ่จนน่าสะพรึงกลัว) และคำว่า sauros (สัตว์เลื้อยคลาน)

หลายคนเข้าใจผิดว่า ไดโนเสาร์ คือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในมหายุคมีโซโซอิกทั้งหมด แต่จริงๆ แล้ว ไดโนเสาร์ คือสัตว์ชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่บนพื้นดินเท่านั้น สัตว์บกบางชนิดที่คล้ายไดโนเสาร์ สัตว์น้ำและสัตว์ปีกที่มีลักษณะคล้ายไดโนเสาร์ ไม่ถือว่าเป็นไดโนเสาร์ เป็นเพียงสัตว์ชนิดที่อาศัยอยู่ในยุคเดียวกับไดโนเสาร์เท่านั้น

ไดโนเสาร์ ถูกแบ่งออกเป็นสองอันดับใหญ่ ๆ ตามลักษณะโครงสร้างของกระดูกเชิงกราน คือ Saurischia (เรียกไดโนเสาร์ในอันดับนี้ว่า ซอริสเชียน) ซึ่งมีลักษณะกระดูกเชิงกรานแบบสัตว์เลื้อยคลาน มีทั้งพวกกินพืชและกินสัตว์ และ Ornithischia (เรียกไดโนเสาร์ในอันดับนี้ว่า ออร์นิทิสเชียน) มีกระดูกเชิงกรานแบบนกและเป็นพวกกินพืชทั้งหมด

-ไดโนเสาร์ สะโพกสัตว์เลื้อยคลาน หรือ ซอริสเชียน (จากภาษากรีก แปลว่าสะโพกสัตว์พวกกิ้งก่า) เป็นไดโนเสาร์ที่คงโครงสร้างของกระดูกเชิงกรานตามบรรพบุรุษ ซอริสเชียนรวมไปถึงไดโนเสาร์เทอโรพอด (theropod) (ไดโนเสาร์กินเนื้อเดินสองขา) และซอโรพอด (sauropod) (ไดโนเสาร์กินพืชคอยาว)
-ไดโนเสาร์สะโพกนก หรือ ออร์นิทิสเชียน (จากภาษากรีก แปลว่าสะโพกนก) เป็นไดโนเสาร์อีกอันดับหนึ่ง ส่วนใหญ่เดินสี่ขา และกินพืช


สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี



สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับไดโนเสาร์ทั้งหมดในมหายุคมีโซโซอิค หากสนใจเพิ่มเติมแนะนำเว็บไซต์ดังนี้ครับ

http://school.obec.go.th
http://www.school.net.th/library/snet4/dinosaur
http://intranet.most.go.th

ที่ น่าสนใจคือ สัตว์เลี้ยงลูกนมพวกแรกก็เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน ซึ่งวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลานกึ่งเลี้ยงลูกด้วยนม โดย mammal ยุคแรกคือพวกโมโนทรีม (monotreme) ซึ่งยังคงวางไข่เช่นเดียวกับสัตว์เลื้อยคลาน ใช่แล้วครับ โมโนทรีมคือต้นตระกูลของตุ่นปากเป็ดในปัจจุบัน




โมโนทรีมเป็นบรรพบุรุษของตุ่นปากเป็ด



วันที่ 15 ธ.ค. ยุคจูแรสซิก (Jurassic period)
208 ล้านปีที่แล้ว


ยุคแห่งไดโนเสาร์อย่างแท้จริง และกลายเป็นชื่อหนังทำเงินตลอดกาลของสตีเว่นส์ สปีลเบิร์ก (ทั้งๆ ที่ไดโนเสาร์มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในเรื่องอยู่ในยุคครีเตเชียส แต่ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าหนังเปลี่ยนเป็นชื่อ “Cretaceous Park” มันจะทำเงินน้อยกว่านี้หรือไม่)





ก่อน ที่จะถึงยุคจูแรสซิก ทวีปแพนเจียได้แยกออกจากกันแล้ว การแยกตัวของทวีปนั้นมีความสำคัญมาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการวิวัฒนาการแยกสายบนผืนโลกที่มีสภาพแวดล้อมต่าง กันในกาลต่อมา แต่กระนั้นในยุคนี้ ทวีปต่างๆก็ยังไม่ได้แยกจากกันอย่างสมบูรณ์เท่าไรนัก ยังพอมีสะพานแผ่นดินให้ไดโนเสาร์ไปมาหาสู่กันได้บ้างครับ

วิวัฒนาการสำคัญอีกประการหนึ่งในยุคนี้ หลีกหนีจะพูดถึงเจ้าอาคีออฟเทอริกซ์ (Archaeopteryx) ไม่ได้แน่นอน นกตัวแรกของโลกใบนี้ ขนาดพอๆกับอีกาแต่มีจุดร่วมของทั้งนกและสัตว์เลื้อยคลานอยู่ในตัวเดียวกัน ทั้งฟันซี่เล็กที่เรียงกันในปาก กรงเล็บที่มือ กระดูกหางเรียงเป็นท่อน รวมกับปีกและขนแบบนก




อาคีออฟเทอริกซ์ เกาะอยู่บนต้นแปะก๊วย



ทางด้านพืช ในปลายยุคนี้ได้ประสบความสำเร็จสูงสุดเมื่อพัฒนาดอกไม้ (Angiosperm) เพิ่มความสามารถในการสืบพันธุ์แบบมีเพศ ดอกไม้ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ต่างแข่งขันดึงดูด “พาหะ” อย่างแมลงทำให้เกิดวิวัฒนาการร่วม (coevolution) ระหว่างดอกไม้และแมลง ดอกไม้มีหลายรูปแบบและสีสัน ส่วนแมลงก็พัฒนารูปร่างให้เหมาะสมกับการกินน้ำหวานดอกไม้ เป็นความสัมพันธ์แบบสลับซับซ้อนที่เราเห็นในปัจจุบัน


วันที่ 20 ธ.ค. ยุคครีเตเชียส (Cretaceous period)
145 ล้านปีที่แล้ว


พืช มีดอกยังคงวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง สร้างป่าดิบชื้นที่มีหลายฤดูขึ้นหลายแห่งบนโลก สัตว์มีกระดูกสันหลังยังคงแพร่ขยายพันธุ์ทั้งในน้ำและบนบก แน่นอนที่สุดทั่วโลกเต็มไปด้วยไดโนเสาร์และนก ขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยังคงสงบสเงี่ยมเจียมตัวอยู่เงียบๆ ซากดึกดำบรรพ์บ่งชี้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคนี้มีร่างกายขนาดเล็กและพบ เพียงไม่กี่ชนิด

ขณะที่ไดโนเสาร์ขนาดยักษ์ครอบครองโลกอย่างลำพองใจ มหันตภัยเงียบก็เข้ามาใกล้...

รอย ต่อระหว่างยุคครีเตเชียสกับยุคเทอร์เชียรีของมหายุตซีโนโซอิกได้เกิดมหันต ภัยครั้งใหญ่ที่กวาดล้างเอาไดโนเสาร์ทั้งหมดออกจากโลกใบนี้และเปิดทางให้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก้าวกระโดดขึ้นมาครองโลกแทน การสูญพันธุ์ครั้งดังกล่าวเรียกว่า K-T extinction

(มีคำ ถามว่าทำไมไม่เป็น C-T extinction: Cretaceous-Tertiary แทนที่จะเป็น K-T extinction ก็เพื่อป้องกันการสับสนกับยุค Carboniferus ที่ขึ้นต้นด้วยตัว C เหมือนกันขณะที่ยุค Cretaceous ออกเสียงคล้ายตัว K มากกว่าครับ)

มี ทฤษฎีมากมายที่พยายามจะอธิบายสาเหตุ K-T extinction แม้แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังมีทฤษฎีใหม่ๆประหลาดๆออกมาอีกเรื่อยๆ แต่แน่นอนที่สุด ทฤษฎีที่น่าเชื่อที่สุดคือดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกนั่นเอง





ปี ค.ศ.1980 : ลูอิส อัลวาเรซ (Luis Alvarez) นักฟิสิกส์ และ วอลเทอร์ อัลวาเรซ (Walter Alvares) นักธรณีวิทยาสองพ่อลูกชาวอเมริกัน เสนอทฤษฎีว่า ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เมื่อ 65 ล้านปีก่อนในอดีต เพราะโลกถูกดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางชน

ก่อนการเสนอทฤษฎีโดยนักวิทยา ศาสตร์สองพ่อลูกอัลวาเรซ มีทฤษฎีหลายทฤษฎีอธิบายสาเหตุการสูญพันธุ์ของสัตว์ยักษ์จำพวกไดโนเสาร์ ซึ่งครองความเป็นเจ้าโลกอยู่นานถึงประมาณ 150 ล้านปี ก่อนที่จู่ๆ จะสูญพันธุ์ ไปเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ทฤษฎีที่เสนอ มีเช่น ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาอย่างรุนแรงทั่วโลก คือ เกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพลมฟ้าอากาศ กล่าวคือ อากาศหนาวเย็นอย่างมาก ไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลือดเย็น ร่างกายไม่สามารถปรับอุณหภูมิสู้อากาศที่หนาวเย็นได้ หรือไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เพราะเกิดการระเบิดของซูเปอร์โนวา ใกล้โลก ทำให้โลกถูกถล่มด้วยกัมมันตภาพรังสีจากอวกาศ หรือไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เพราะถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กๆ ขโมยไข่ หรือไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เพราะไข่ของไดโนเสาร์ เกิดมีเปลือกหนาผิดปกติ ทำให้ไข่ไดโนเสาร์ฟักตัวไม่ได้ และทฤษฎีอื่นๆ อีก

ในปี ค.ศ.1980 สองนักวิทยาศาสตร์พ่อลูกอัลวาเรซ เสนอทฤษฎีใหม่ขึ้นมาว่า สาเหตุที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เมื่อ 65 ล้านปีมาแล้ว เป็นผลจากมหันตภัยนอกโลก แต่มิใช่การระเบิดของซูเปอร์โนวา หากเป็นเพราะโลกถูกถล่มด้วยดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย

หลักฐานที่สองนักวิทยาศาสตร์พ่อลูกอัลวาเรซ ใช้ประกอบการเสนอทฤษฎีโลกถูกชน คือ การค้นพบธาตุอิริเดียม ในชั้นดินหินบางๆ ซึ่งเป็นชั้นอยู่ใต้ดิน และมีอายุประมาณ 65 ล้านปี

อิริเดียม เป็นธาตุหนัก เป็นธาตุที่มีอยู่กับโลกตั้งแต่เมื่อโลกกำลังก่อกำเนิด แต่มาถึงปัจจุบัน บรรดาธาตุอิริเดียมที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกแต่เดิมมา ล้วนจมไปอยู่ที่ตรงใจกลางโลก

แล้วอิริเดียมที่พบอยู่ใต้ดิน ไม่ลึกนัก อายุ 65 ล้านปีมาจากไหน ?

นัก วิทยาศาสตร์สองพ่อลูกอัลวาเรซ เสนอว่า ต้องมาจากนอกโลก และอาจจะมากับดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย หรืออุกกาบาตในอวกาศที่มาชนโลก เนื่องจากอิริเดียมเป็นธาตุที่พบอยู่ในอุกกาบาต ดาวเคราะห์น้อย และดาวหาง

หลัก ฐานอิริเดียมที่พบอยู่ในชั้นดินหินบางๆ อายุประมาณ 65 ล้านปีนั้น ในตอนแรก สองพ่อลูกอัลวาเรซ ค้นพบในประเทศอิตาลี แล้วต่อๆ มา ก็พบอยู่ในชั้นดินหินบางๆ ใต้พื้นผิวโลกหลายแห่ง

ในระยะแรกๆ สองพ่อลูกอัลวาเรซ เสนอทฤษฎีว่า เป็นไปได้ที่ เมื่อ 65 ล้านปีมาแล้ว โลกถูกถล่มด้วยกองทัพดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย แล้วเกิดสภาพ "ฤดูหนาวนิวเคลียร์" บนโลก ทำให้โลกตกอยู่ในสภาพมืด หนาวเย็นอยู่นานหลายเดือน ไดโนเสาร์จึงสูญพันธุ์

ต่อๆ มา ก็มีการค้นพบหลุมอุกกาบาตขนาดยักษ์ อยู่ใต้ดินที่อ่าวเม็กซิโก มีขนาดปากหลุมกว้างเกือบสองร้อยกิโลเมตร และส่วนหนึ่งของหลุมอุกกาบาตใต้ดินนี้ ก็อยู่ใต้พื้นดินซึ่งเป็นที่ตั้งของ เมืองชิกซูลุบ (Chicxulub) ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญสนับสนุนทฤษฎีโลกถูกชน เมื่อ 65 ล้านปีก่อน

มาถึงปัจจุบัน ทฤษฎีไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เพราะโลกถูกชนเมื่อ 65 ล้านปีก่อน เป็นทฤษฎีที่ได้รับความสนใจมากที่สุด และสิ่งที่ชนโลก จนกระทั่งเกิดหลุมอุกกาบาตยักษ์อยู่ใต้ดินที่อ่าวเม็กซิโกนั้น น่าจะเป็นดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย

และ ล่าสุด หลักฐานค้นพบต่อๆ มา สนับสนุนทฤษฎีว่า สิ่งที่ชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อนนั้น เป็นดาวเคราะห์น้อย มีขนาดเกือบหรือประมาณ 10 กิโลเมตร

100 ปี ดาราศาสตร์โลก-หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 22 พฤศจิกายน 2543




หากโลกนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม... (4)

วันที่ 26 ธ.ค. (ใกล้ปีใหม่แล้วนะครับ) ยุคเทอร์เชียรี (Tertiary period)
65 ล้านปีที่แล้ว


The age of Mammals begins

แบ่งเป็น 5 สมัยได้แก่ Pliocene Epoch, Miocene Epoch, Oligocene Epoch, Eocene Epoch, Paleocene Epoch

ตลอด ช่วงนี้มีการเกิดเทือกเขาขนาดใหญ่ขึ้นทั่วโลก ระดับน้ำทะเลลดลงเพราะการก่อตัวของน้ำแข็งขั้วโลก ทุ่งหญ้าเข้ามาแทนที่ป่าเฟิร์น แผ่นทวีปแยกห่างจากกันจนเริ่มคล้ายปัจุบัน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวิวัฒนาการแยกสายกันไปตามถิ่นที่อยู่ที่มีลักษณะเฉพาะ ตัว ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่อาจประเมินค่าได้




ยุคเทอร์เชียรี่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์เลี้ยงด้วยนม



สัตว์ เลื้อยคลานหยุดความหลากหลายทางวิวัฒนาการในยุคนี้ จระเข้ครองตำแหน่งสัตว์เลื้อยคลานที่ใหญ่ที่สุด งูมีจำนวนเพิ่มขึ้นเหมาะสมกับภูมิประเทศที่เป็นทุ่งหญ้า นกเริ่มวิวัฒนาการหลากหลายไม่แพ้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

นักชีววิทยาแบ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ได้แก่ พวก ที่ออกลูกเป็นไข่ (Subclass Prototheria) พวกที่ออกลูกเป็นตัวและมีถุงหน้าท้อง (Subclass Theria -Infraclass Metatheria) และพวกมีสายรก (Subclass Theria -Infraclass Eutheria) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคนี้จะเป็นบรรพบุรุษของสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงทั้งมวลที่เราเห็นกันในปัจจุบัน




ม้าโบราณไฮราโคทีเรียม ขนาดเล็กกว่าม้าปัจจุบันมากกว่า 2 เท่า



ไม่ว่าจะเป็น ม้าโบราณไฮราโคทีเรียม (Hyracotherium) ที่เป็นเหยื่ออันโอชะของจระเข้บกและนกยักษ์ไดอาทรีม่า (Diatryma) หรือเมโซนิกส์ (Mesonyx) ที่หวนกลับสู่ทะเลและกลายเป็นบรรพบุรุษของวาฬและโลมา หรือสัตว์ร่อนเวหา อิคาโรนิคเทอริส (Icaronycteris) บรรพบุรุษของค้างคาว หรือสัตว์คล้ายฮิปโปแต่ดันเป็นบรรพบุรุษของช้างอย่าง โมริเทอเรียม (Moeritherium)




บรรพบุรุษช้างหน้าตาคล้ายฮิปโปและอาศัยตามหนองน้ำ



...และแน่นอนที่สุด สมัยไมโอซีนซึ่งอุณหภูมิเริ่มเย็นลง พวกไพรเมท (Primates) ก็เริ่มปรากฏ ต้นกำเนิดของมนุษยชาติ...


วันสุดท้ายของปี 31 ธ.ค. ยุคควอเทอร์นารี (Quaternary period)
5 ล้านปีที่แล้ว


สืบ เชื้อสายมาจากลิงไม่มีหาง! ตายจริง หวังว่าคงไม่ใช่เรื่องจริง แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราก็จงมาช่วยกันสวดอ้อนวอนขออย่าให้สาธารณชนรู้เรื่องนี้

-คำกล่าวของภรรยาบิชอปแห่งวูสเตอร์ หลังจากได้รับฟังคำอธิบายเรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน



ยุคนี้แบ่งออกเป็น 2 สมัยคือ Pleistocene epoch และ Holocene epoch ในยุคนี้เกิดยุคน้ำแข็งขึ้นหลายครั้ง ทำให้สภาพภูมิประเทศในแต่ละท้องที่แปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทวีปต่างๆแยกตัวกันอย่างชัดเจน ยุคน้ำแข็งแต่ละครั้งทำให้เกิดการคัดเลือกตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตหนึ่งสูญพันธุ์ อีกสิ่งมีชีวิตหนึ่งเข้ามาแทนที่ แม้ว่าพวกไพรเมทปรากฏขึ้นครั้งแรกในยุคเทอร์เชียรี แต่กว่ามนุษย์จะเสนอหน้าลืมตาดูโลกนี้เป็นครั้งแรกก็ใกล้ปีใหม่เต็มที (ราว 1.8 ล้านปีที่แล้วเกิดสกุลโฮโม)



วิวัฒนาการของมนุษย์ (Click เพื่อขยายภาพ)

รายละเอียดของกำเนิดมนุษย์ขอไม่กล่าวถึง ณ ที่นี้ และสามารถอ่านรายละเอียด(ที่ไม่น่าเบื่อ)ได้ตาม reference ด้านล่างครับ

...นี่คือการเดินทางอันยาวนานของสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่ต้นปีที่โลกถือกำเนิด ผ่านความว่างเปล่าไร้ซึ่งชีวิตใดๆยาวนานกว่า 3 เดือน (1,000 ล้านปี) และมีแต่ความน่าเบื่อด้วยสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ครองโลกนาน 8 เดือน (3,000 ล้านปี) ใช้เวลาอีกสองสัปดาห์ (100 ล้านปี) กว่าที่จะขึ้นมาสูดอากาศหายใจบนบก ผืนโลกเต็มไปด้วยไดโนเสาร์ราวๆสองอาทิตย์ (100 ล้านปี) แล้วจบลงด้วยพวกเราที่ได้ฉลองวันปีใหม่ในวันสุดท้ายของปี (~1 ล้านปี)

มนุษย์เอ๋ย อย่าลำพองใจ




References:

Bill Bryson, ประวัติย่อของเกือบทุกสิ่ง. สำนักพิมพ์วงกลม. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2551

ประเวศ วะสี (บรรณาธิการ), ธรรมชาติของสรรพสิ่ง การเข้าถึงความจริงทั้งหมด. สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2547

ธนิก เลิศชาญฤทธิ์, ตามรอยกำเนิดมนุษย์. สำนักพิมพ์สารคดี. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2550

คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ และทีมงานต่วย’ตูน, วิวัฒนาการของชีวิต. สำนักพิมพ์ บริษัท พี.วาทิน พับลิเคชั่น. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2548

Time machine กับความเป็นไปได้ทางฟิสิกส์

เราสามารถเดินทางข้ามเวลาได้หรือไม่?

หากคุณถามคำถามดังกล่าวกับนักฟิสิกส์ มีคำตอบที่เป็นไปได้ทั้งสองอย่าง เป็นไปได้ กับ เป็นไปไม่ได้
ทั้งสองคำตอบถูกต้องครับ หากจะพูดให้ถูกมากขึ้นคือ เป็นไปได้ในทางทฤษฎีแต่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ

ไม่มีกฎทางฟิสิกส์ข้อไหนห้ามไม่ให้มีการเดินทางข้ามเวลาครับ

ทฤษฎี ทางฟิสิกส์เกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาที่เราต้องยกความดีความชอบให้คือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ไม่มีทฤษฎีใดที่จะเกี่ยวข้องกับการเดินทางข้ามเวลาได้เท่ากับทฤษฎีนี้อีก แล้ว

ทฤษฎีสัมพัทธภาพคืออะไร?
เพื่อเป็นการปูพื้นฐาน ผมจะอธิบายทฤษฎีสัมพัทธภาพอย่างคร่าวๆ สำหรับผู้ที่ทราบอยู่แล้วก็ข้ามไปได้เลยครับ

ทฤษฎีสัมพัทธภาพแบ่งเป็น 2 กรณี
1. ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special relativity) อธิบายการเคลื่อนที่ของวัตถุที่ไม่มีความเร่ง (ประยุกต์หลักสัมพัทธภาพกับกรอบอ้างอิงเฉื่อยเท่านั้น)
2. ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (General relativity) อธิบายการเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีความเร่งหรือเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วง (ประยุกต์หลักสัมพัทธภาพให้ใช้ทั่วไป กล่าวคือ ใช้ได้กับทุกกรอบอ้างอิง)

เรามาดูทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษกันก่อน

ใน ยุคกาลิเลโอ ความเข้าใจเกี่ยวกับสัมพัทธภาพนั้นเหมือนกับที่เราได้เรียนในฟิสิกส์ ม.ปลายกล่าวคือ กฎทางฟิสิกส์จะเหมือนกันสำหรับผู้สังเกต 2 คนที่เคลื่อนที่สัมพัทธ์กันด้วยความเร็วคงที่

ยกตัวอย่างเช่น คุณ Choco-mix กำลังจอดรถสีแดงอยู่นิ่งๆรอสัญญาณไฟเขียว ส่วนคุณ primjang กำลังขับรถสีฟ้าด้วยความเร็ว 60 km/hr ฝ่าไฟแดงผ่านหน้าคุณ Choco-mix ไปอย่างหน้าตาเฉย

สิ่งที่คุณช็อคโก้มิกซ์เห็นคือ คุณพริมจังเคลื่อนที่ผ่านหน้าไปด้วยความเร็ว 60 km/hr



ส่วนคุณพริมจังล่ะ คุณพริมจังก็จะเห็นคุณช็อคโก้มิกซ์เคลื่อนไปข้างหลังด้วยความเร็ว 60 km/hr เช่นกัน เข้าใจไม่ยากนะ



เขยิบ ความเข้าใจขึ้นมาอีกนิด ทีนี้สมมติว่า คุณพริมจังยังคงขับรถด้วยความเร็ว 60 km/hr อยู่ ส่วนคุณช็อคโก้มิกซ์เนื่องจากอารมณ์เสียที่ถูกคุณพริมจังแซง ก็เร่งความเร็วจนถึง 100 km/hr ขับแซงหน้าคุณพริมจังในที่สุด

ดังนั้น สิ่งที่คุณพริมจังเห็นคือ คุณช็อคโก้มิกซ์เคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความเร็ว 100-60 = 40 km/hr
ส่วนคุณช็อคโก้มิกซ์ก็จะเห็นคุณพริมจังเคลื่อนที่ไปข้างหลังด้วยความเร็ว 40 km/hr เช่นกัน

ขยับขึ้นมาอีกหน่อย แล้วถ้าหากคุณช็อคโก้มิกซ์กำลังขี่จรวดด้วยความเร็ว 90% ของความเร็วแสงในสุญญากาศ (c ~ 3 x 108 m/s) พุ่งตรงเข้าหาแหล่งกำเนิดแสงเส้นเดี่ยว ดังนั้นคุณช็อคโก้มิกซ์ต้องเห็นแสงกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 0.9c - c = -0.1c หรือ 10% ของความเร็วแสงในสุญญากาศในทิศทางตรงข้ามกับจรวด ถูกต้องหรือไม่?



คำตอบคือผิด!! สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คุณช็อคโก้มิกซ์จะเห็นความเร็วแสงเท่าเดิมเคลื่อนที่ในทิศทางตรงข้ามกับจรวด และเวลาของคุณช็อคโก้มิกซ์เดินช้าลง เมื่อวัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงใกล้ความเร็วแสง สิ่งที่เกิดขึ้นคือสัมพัทธภาพแบบกาลิเลโอจะใช้ไม่ได้ผล! ทั้งหมดนี้พิสดารเกินสามัญสำนึกของคนทั่วไป แต่สามารถอธิบายด้วยทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษครับ

สัจพจน์ในทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ

1. กฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์เหมือนกันในทุกๆกรอบอ้างอิงเฉื่อย (สัมพัทธภาพแบบกาลิเลโอ)
2. อัตราเร็วของแสงในสุญญากาศมีค่าคงที่สำหรับทุกๆผู้สังเกต


สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปที่จะต้องนำมาใช้ในการอธิบายการเดินทางข้ามเวลาคือ

การยืดออกของเวลา (time dilation) – เวลา ที่ล่วงไประหว่างเหตุการณ์สองอย่างนั้นไม่แปรเปลี่ยนจากผู้สังเกตหนึ่งไปยัง ผู้สังเกตหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับความเร็วสัมพัทธ์ของกรอบอ้างอิงของผู้สังเกต




...ต่อไปมาดู ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป

เช่น เดียวกันกับทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปก่อกำเนิดขึ้นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่ฟิสิกส์ยุคนิ วตันอธิบายไม่ได้ คือความพยายามที่จะพยากรณ์เส้นทางโคจรของดาวพุธ ซึ่งตามทฤษฎีของนิวตันแล้วจะต้องมีดวงจันทร์ล้อมรอบดาวพุธ แต่เมื่อพิสูจน์พบว่าไม่มีดวงจันทร์โคจรรอบดาวพุธ นักวิทยาศาสตร์จึงคาดว่าทฤษฎีของนิวตันต้องมีบางอย่างผิดพลาด ซึ่งปัจจุบันเราก็เข้าใจว่าทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของนิวตันเป็นเพียงการประมาณ การณ์ที่ดีมากๆ ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปทำนายการเบี่ยงเบนวงโคจรของดาวพุธซึ่งได้รับอิทธิพล จากแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ได้แม่นยำกว่าทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของนิวตัน




ไอน์สไตน์ กล่าวว่าความโน้มถ่วงและความเร่งเป็นสิ่งเดียวกัน นอกจากนี้เขายังรวมอวกาศกับเวลาเข้าด้วยกันในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป กลายเป็น 4 มิติ (M-theory พิสูจน์ในภายหลังว่าจักรวาลมีทั้งหมด 11 มิติ แต่เราจะไม่พูดถึงมันในที่นี้---อ่านย้อนหลังได้ในกระทู้น้องวินครับ) คือกว้าง-ยาว-สูง และเวลา ทอถักเป็นพื้นผ้าแห่งจักรวาล

ไม่ต้องพูด ถึง 11 มิติ แค่ 4 มิตินี้ก็เข้าใจยากแล้ว เพื่อให้พูดกันรู้เรื่องจึงขอลดให้ง่ายที่สุดเหลือแค่ 2 มิติ คือ อาจจะเป็นอวกาศทั้ง 2 มิติ (ไม่รวมเวลา) หรือ อวกาศ 1 มิติ + เวลา อีก 1 มิติ เปรียบเปรยว่าถ้า 2 มิติเป็นแบบนี้ แล้ว 4 มิติจะเป็นแบบไหน นี่คือที่มาของแบบจำลองผืนยางบางๆ ที่ฝรั่งเรียกว่า Rubber Sheet Model ตามแบบจำลองนี้ ในบริเวณที่ไม่มี ความโน้มถ่วง อวกาศจะมีลักษณะ “แบน” (flat space) ซึ่งเป็นกรณีที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษใช้ได้ดีครับ

แต่ถ้า หากมีความโน้มถ่วงมาเกี่ยวข้อง เช่น บริเวณนั้นมีดาวฤกษ์หรือดาวเคราะห์อยู่ใกล้ๆ อวกาศบริเวณนั้นจะ “โค้ง” (curved space) ในกรณีนี้ ทฤษฎีที่ถูกต้องคือทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เพราะเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับความโน้มถ่วงที่บอกว่า ความโน้มถ่วงเป็นผลมาจากความโค้งของอวกาศ

จินตนาการเหมือนเรามีผืน ผ้าขนาดใหญ่ที่ขึงให้แบนเรียบ คุณโยนลูกบอลหนึ่งลูกลงไปกลางผืนผ้านั้น ผ้าก็จะยุบตัวลงไปตำแหน่งที่ลูกบอลนั้นอยู่ ยิ่งลูกบอลใหญ่เท่าไรผ้าก็ยิ่งยุบตัวลงมาก—เปรียบเทียบว่ายิ่งมวลมาก อวกาศก็ยิ่งโค้งงอมาก ทีนี้หากคุณวางลูกเทนนิสลงบนผืนผ้า ลูกเทนนิสที่มีมวลน้อยกว่าลูกบอลจะเคลื่อนหมุนเป็นวงตามความโค้งที่เกิดขึ้น—เปรียบเหมือนดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์



สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำคือ ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เราไม่สามารถแยกกาลและอวกาศออกจากกัน ดังนั้นวัตถุที่มีมวลบิดทั้งกาลและอวกาศให้โค้งงอได้ ตรงนี้ขอเน้นย้ำเลยครับ เพราะว่ามีความสำคัญกับทฤษฎีการข้ามเวลาที่จะพูดถึงต่อไป


Time machine กับความเป็นไปได้ทางฟิสิกส์ (2)

หมดส่วนปูพื้นฐานไปมากแล้ว ก็จะมาพูดเรื่องแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาซะทีนะครับ เฮ้อ...เริ่มเหนื่อยละ

การเดินทางไปในเวลาที่เชื่อกันว่าไม่ขัดกับหลักการทางฟิสิกส์ในปัจจุบันมี 2 แนวใหญ่ๆ ที่ฟังดูง่าย ๆ (แต่ทำยาก) แบบนี้ครับ

• แนวทางที่ 1 : ใช้ ‘บ่วงเวลา’ ในอวกาศ-กาล

นัก ฟิสิกส์ได้แสดงให้เห็นว่า บนอวกาศ-กาลที่บิดเบี้ยวนั้น อาจจะมีเส้นทางบางเส้นทางซึ่งถ้าหากคุณออกเดินทางจากจุดเริ่มต้น ณ เวลาหนึ่ง แล้วเดินทางออกไปเรื่อยๆ ตามทางที่ว่านี้ พอผ่านไปได้สักพัก คุณจะพบว่าคุณกลับมาที่จุดเริ่มต้น ณ เวลาเดิม

นักฟิสิกส์เรียกเส้น ทางดังกล่าวว่า บ่วงเวลา (ภาษาง่ายๆ เรียกว่า time loop ส่วนภาษาที่เป็นทางการจะเรียกว่า closed timelike curve) ซึ่งการที่คุณเดินทางกลับมาที่เดิม ณ เวลาเดิมได้ก็แสดงว่า ตลอดเส้นทางที่คุณเดินทางอยู่นั้น คุณกำลังเดินทางกลับไปยังอดีตนั่นเอง

• แนวทางที่ 2 : ใช้ ‘ทางลัด’ ในอวกาศ-กาล

ถ้า เราสามารถทำให้อวกาศ-กาลบิดเบี้ยวไปเกิดเป็นทางลัดซึ่งเชื่อมบริเวณ สองบริเวณในอวกาศ-กาลได้ และถ้าทางลัดที่ว่านี้เชื่อมบริเวณสองบริเวณที่มีเวลาต่างกัน ก็หมายความว่า เราสามารถกลับไปในอดีตหรือรุดหน้า ไปสู่อนาคตได้ ดังนั้น ยานเวลาของเราต้องเป็นเครื่องมือที่มีความสามารถในการสร้างทางลัดที่ว่าได้ นั่นเอง




ยานเวลาแบบทรงกระบอกหมุน (rotating dust cylinder)

แนว คิดนี้มาจากหลักการที่ว่า มวลสารทำให้อวกาศ-กาลเกิดการบิดเบี้ยวตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป จุดเริ่มต้นแรกสุดมาจากฝีมือของ ดับลิว.เจ. แวน สต็อคคุม (W.J. van Stockum) ซึ่งในปี ค.ศ. 1937 นักฟิสิกส์ท่านนี้ได้แก้สมการสนามในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์และพบ บ่วงเวลาโผล่ออกมาจากคำตอบของสมการ

แต่ตอนนั้น ไม่มีใครคิดว่าเจ้าบ่วงเวลานี้จะสามารถใช้สร้างเป็นยานเวลาได้ คุณสต็อคคุมก็เลยไม่ดังเท่าที่ควร ยิ่งไปกว่านั้นแนวคิดนี้ต้องอาศัยวัตถุรูปทรงกระบอกยาวเป็นอนันต์ และมีความหนาแน่นสูงมหาศาลหมุนรอบตัวเองในอวกาศ ซึ่งจะทำให้อวกาศ-กาลบริเวณใกล้ๆ กับผิวของทรงกระบอกจะเกิดการบิด-เบี้ยวไป เกิดเป็นบ่วงเวลา

ต่อมา ในปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) นักฟิสิกส์หนุ่มชาวอเมริกันชื่อ แฟรงค์ ทิปเลอร์ (Frank Tipler)ได้นำทฤษฎีเดิมของสต็อคคุม มาปัดฝุ่น และยืนยันว่า ถ้าต้องการให้เกิดบ่วงเวลาจริงๆ ก็ต้องใช้วัตถุรูปร่างทรงกระบอกความหนาแน่นสูง ยาวเป็นอนันต์ เหมือนอย่างทฤษฎีเดิมนั่นแหละ แต่ต้องทำให้มันหมุนรอบแกนตามยาวของตัวเองเร็วจี๋ระดับหลายพันรอบต่อวินาที ซึ่งถ้านักท่องเวลาเข้าและออกได้จังหวะเหมาะสมแล้ว เขาก็อาจจะเดินทางกลับไปสู่อดีตได้!

แต่นี่ก็ยังไม่ได้แก้ปัญหา เรื่องขนาดของทรงกระบอกที่ยาวเป็นอนันต์ ซึ่งคุณทิปเลอร์ก็ไม่ยอมแพ้ครับ เขาบอกว่า เอาล่ะ! รู้แล้วว่าของยาวๆ ขนาดนั้นมันทำไม่ได้ งั้นผมขอลดขนาดเหลือแค่กว้าง 10 กิโลเมตร ยาว 100 กิโลเมตร ก็แล้วกัน! (ขนาดเล็กจังเลยนะครับ) แต่ไม่รับประกันว่า จะเกิดบ่วงเวลาที่ทำให้คุณเดินทางไปในเวลาได้สำเร็จนะ แถมเจ้าทรงกระบอกขนาดมหึมาที่หมุนเร็วๆ นั้นก็อาจจะโก่งงอหรือแตกหักได้ง่ายๆ อีกต่างหาก




เอกภพของโกเดล (Godel’s universe)

แล้วถ้าหากว่าเอกภพกำลังหมุนอยู่ล่ะ และมียานอวกาศเดินทางรอบเอกภพที่กำลังหมุนอยู่นั้น ก็จะย้อนเวลาได้เช่นกัน

ใน ปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) นักฟิสิกส์ชื่อ เคิร์ต กอเดล (Kurt Godel) ได้สร้างความฮือฮาให้กับวงการฟิสิกส์ด้วยการพิสูจน์ด้วยคณิตศาสตร์ว่า ถ้าหากเอกภพทั้งเอกภพหมุนอยู่อย่างต่อเนื่อง เจ้า ‘บ่วงเวลา’ หรือเส้นทางปิดที่จะนำคุณและผมกลับไปยังอดีตก็จะมีได้อย่างแน่นอน

แต่ เส้นทางการเดินทางนั้นจะต้องเป็นวงกลมใหญ่ยาวไกล ซึ่งเมื่อคุณเดินทางไปเรื่อยๆ จนกลับมาที่ตำแหน่งเดิม คุณก็จะพบว่า คุณมาถึงก่อนเวลาที่คุณจะเริ่มออกเดินทาง!

แต่แนวคิดนี้ก็ถูกตีตกไป เพราะมีนักฟิสิกส์ออกมาแย้งว่าเอกภพไม่ได้กำลังหมุนอยู่ หรือไม่ก็ว่า เอกภพที่กำลังหมุนและไม่ได้หมุนไม่มีความแตกต่างกัน




ยานเวลาซึ่งใช้คอสมิกสตริง (cosmic string)

นัก ฟิสิกส์ที่ไม่ปฏิเสธแนวคิดจักรวาลหมุนหรือทรงกระบอก ก็บอกว่ามีอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้โดยไม่ต้องอาศัยโครงสร้างใหญ่มหึมาพิสดาร ขนาดนั้น แค่หาคอสมิกสตริงซึ่งกำลังหมุนอยู่ (rotating cosmic string) ให้พบก็เท่านั้นเอง คอสมิกสตริงดังกล่าวเป็นเหมือนบ่วงเวลาที่บิดผันกาล-อวกาศเช่นกัน

แล้ว คอสมิกสตริงคืออะไร? คอสมิกสตริงคือวัตถุประหลาดที่มีความบางเฉียบมากๆหนาไม่เกินขนาดของอะตอม แต่มีความหนาแน่นเป็นอนันต์ และถือกำเนิดมาพร้อมกับจักรวาลช่วงที่เกิดบิ๊กแบง สายเดี่ยวจักรวาลนั้นอาจเป็นเส้นตรงยาวๆ ก็ได้ หรือ อาจมีลักษณะเป็นห่วงก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน มันจะไม่มีหัว ไม่มีหาง

นักฟิสิกส์เชื่อว่าในจักรวาลน่าจะยังมีคอสมิกสตริงหลงเหลืออยู่บ้าง และถ้าเราโชคดีก็อาจจะพบมัน

บาง ท่านก็บอกว่า ไม่ต้องให้เจ้าคอสมิกสตริงหมุนก็สามารถสร้างบ่วงเวลาได้เหมือนกัน ในปี ค.ศ.1991 (พ.ศ. 2534) เจ.ริชาร์ด ก็อตต์ ที่ 3 นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ได้เสนอแนวคิดว่า ถ้าให้สายเดี่ยวจักรวาล หรือคอสมิกสตริงสองเส้นขนานกันวิ่งสวนทางกัน โดยแต่ละเส้นวิ่งด้วยความเร็วสูงมากใกล้ๆ ความเร็วแสง (คล้ายๆ กับรถ 2 คัน วิ่งสวนทางกันอยู่บนคนละเลนใกล้ๆ กันบนทางด่วน) เราก็สามารถเดินทางไปในเวลาได้

ข้อจำกัด: เราต้องหาเจ้าคอสมิกสตริงที่ว่าให้เจอ!




ยานเวลาที่ใช้รูหนอน (wormhole)

มา ดูอีกวิธีที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุด(มั้ง)ครับ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักรูหนอนกันก่อน รูหนอนเป็นทางลัดที่สั้นที่สุดที่เชื่อมระหว่างกาล-อวกาศสองบริเวณเข้าด้วย กัน ซึ่งอธิบายได้ด้วยคณิตศาสตร์โทโปโลยี่ กำเนิดของรูหนอนนั้นไม่แน่ชัด บ้างก็ว่าเกิดจากหลุมดำ

แล้วจะสร้างยานเวลาจากรูหนอนได้อย่างไร?

ผมขอเน้นว่า รูหนอนเชื่อมกาล-อวกาศสองบริเวณ เข้าด้วยกัน กาล-อวกาศคือไม่ใช่แค่สถานที่ครับแต่รวมถึงเวลาด้วย ต่อจากนี้เราจะค่อยๆอธิบายการทำงานของมันด้วยทฤษฎีสัมพัทธภาพนะครับ



(ขอ สมมติสถานที่และตัวเลขทั้งหมดเพื่อไม่ให้ปวดหัวกับการคำนวณ) Mr.Fusion ทำงานเป็นนักบินอวกาศที่ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปดาวเคราะห์หว้ากอซึ่งอยู่ ห่างจากโลก 600 ปีแสง วันนี้ Mr.Fusion ต้องออกเดินทางแต่บังเอิญเกิดมีเรื่องทะเลาะกับคุณแก่ม แก๊มเสียก่อน ใช้เวลางอนง้ออยู่นานก็ไม่หายโกรธ Mr.Fusion จึงตัดสินใจนำรูหนอนรูหนึ่งขึ้นยานอวกาศไปด้วย ซึ่งรูหนอนที่ว่านี้เชื่อมอยู่กับรูหนอนที่บ้านคุณแก่ม แก๊ม เพื่อจะได้ง้อคุณแก่ม แก๊มได้ตลอดเวลาที่ Mr.Fusion เดินทาง

Mr.Fusion อยู่ในยานอวกาศที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 99.999999% ของความเร็วแสงในสุญญากาศ ดังนั้น Mr.Fusion จะเดินทางไปถึงดาวเคราะห์หว้ากอใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 600 ปี แต่เนื่องจาก Mr.Fusion เดินทางไปด้วยความเร็วใกล้แสง ปรากฏการณ์ time dilation จึงเกิดขึ้น Mr.Fusion รู้สึกว่าเวลาได้ผันผ่านไปเพียง 1 เดือน ซึ่งทางคุณแก่ม แก๊มที่กำลังนั่งงอนก็เช่นเดียวกัน

เมื่อ Mr.Fusion ทำธุระที่ดาวเคราะห์หว้ากอเสร็จสิ้นแล้วก็เดินทางกลับโลกด้วยความเร็วเท่า เดิม ระหว่างทางก็พูดคุยกับคุณแก่ม แก๊มจนคืนดีกันเรียบร้อย เมื่อยานอวกาศลงจอดพื้นโลก Mr.Fusion ก็ต้องตกใจที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะเขาใช้เวลาเดินทางไปทั้งหมด 1,200 ปี (แม้ว่าปรากฏการณ์ time dilation จะทำให้รู้สึกว่าผ่านไปเพียง 2 เดือน) เวลาผ่านไป 1,200 ปี อะไรๆก็เปลี่ยนแปลงไปหมด แต่ในระหว่างที่ Mr.Fusion กำลังยืนงงอยู่นั้น คุณแก่ม แก๊มก็ร้องเรียกจากรูหนอนอีกฝั่ง

เมื่อ Mr.Fusion มองเข้าไปในรูหนอนอีกฝั่ง บ้านคุณแก่ม แก๊ม ก็พบว่าฝั่งนั้นเป็นเวลาในยุคเดียวกับที่เขาจากมาผ่านไปเพียงสองเดือน Mr.Fusion จึงกระโดดข้ามรูหนอนจากยานอวกาศลัดมาทางรูหนอนบ้านคุณแก่ม แก๊ม เท่านี้ Mr.Fusion ก็ได้กลับสู่ยุคปัจจุบันอันน่าอบอุ่นของเขา ส่วนรูหนอนที่เชื่อมระหว่างบ้านคุณแก่ม แก๊มกับในยานอวกาศที่จอดอยู่ก็กลายเป็นประตูเวลาเชื่อมสองยุคที่ต่างกัน 1,200 ปี



กล่าวโดยสรุปการสร้างยานเวลาจากรูหนอนทำได้โดย

1. สร้าง หรือ หารูหนอน ในอวกาศหรือบนโลก

(ปัจจุบันรูหนอนมีอยู่แต่ในทฤษฎีและการคำนวณทางสมการคณิตศาสตร์ ยังไม่พบหลักฐานการดำรงอยู่จริง)

2. ทำให้รูหนอนมีเสถียรภาพเพื่อให้คนสามารถเดินทางเข้าออกได้อย่างปลอดภัย

(ตาม สมการคณิตศาสตร์ รูหนอนที่เกิดขึ้นมีสเถียรภาพต่ำมาก และมักเสื่อมสลายไปในเวลาไม่ถึงเสี้ยววินาที นักฟิสิกส์เชื่อว่า ต้องอาศัยพลังงานลบ—สิ่งซับซ้อนมากๆที่ไม่อาจอธิบายได้ในที่นี้ ซึ่งทำงานตรงข้ามกับแรงโน้มถ่วงเพื่อให้รูหนอนมีสเถียรภาพ)

3. ใส่ประจุให้กับปากทางด้านหนึ่งของรูหนอน แล้วย้ายปากทางด้านที่มีประจุนี้เข้าไปในยานอวกาศด้วยสนามไฟฟ้า

(ซึ่งคงต้องใช้พลังงานมหาศาลมาก มาก มาก)

4. ทำให้ปากทางทั้ง 2 ด้าน มีเวลาต่างกัน โดยการขับเคลื่อนยานอวกาศออกไปด้วยความเร็วสูงใกล้ความเร็วแสง

(ดัง นั้น ต้องมีเทคโนโลยีในการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้แสงให้ได้ และหากจะนำมนุษย์ขึ้นไปด้วย ยานอวกาศก็ต้องสามารถทนแรงบีบอัดอันมหาศาลจากการเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว สูง---มิฉะนั้น Mr.Fusion จะได้ Fusion จริงๆก็งานนี้)

5. นำยานอวกาศกลับมาใกล้ๆ ที่เดิมอีกครั้ง

(อืม...ถ้าทำ 1-4 ได้ ข้อนี้ก็ไม่อยากแล้วเนอะ)


เห็นไหม สร้างยานเวลาจากรูหนอนเองก็ได้! ง่ายจัง~


Time machine กับความเป็นไปได้ทางฟิสิกส์ (3)

ทั้ง หมดนี้ก็เป็นทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่เป็นไปได้ในการสร้างยานเวลา ซึ่งเป็นประเด็นทางเทคนิคเสียมากที่ทำให้มันเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าหากว่ายานเวลาสร้างได้สำเร็จล่ะ ยังมีปัญหาเชิงอภิปรัชญาตามมาอีกครับ -_-“ นั่นคือ Time’s paradoxes

TIME PARADOXES

คือ ข้อขัดแย้งในตัวเองของการย้อนเวลา ข้อขัดแย้งดังกล่าวทำให้การย้อนเวลาเป็นเรื่องที่ขัดต่อเหตุผล ตรรกะ และความสวยงามของจักรวาล มองอีกแง่หนึ่ง มันเป็นคำถามเชิงปรัชญาที่สิ่งมีชีวิตต้องตีให้ตก ก่อนจะได้รับอนุญาตให้เดินทางข้ามเวลา

เรามาดูกันว่า Time paradoxes มีอะไรบ้าง


1. Grandfather's paradox คือ การที่คุณย้อนเวลาไปในอดีตแล้วทำให้ปัจจุบันไม่เป็นความจริง ตัวอย่างคลาสสิคคือ จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณนั่งไทม์แมชชีนกลับไปอดีตสมัยที่คุณยังไม่เกิด คุณได้สังหารชายคนหนึ่งซึ่งแท้จริงเป็นปู่ของคุณ หากปู่ของคุณถูกฆ่า คุณต้องไม่มีทางได้เกิด...เมื่อคุณไม่ได้เกิด คุณจะย้อนเวลากลับไปฆ่าปู่ของคุณได้อย่างไร?




2. Information paradox คือ การได้รับข้อมูลจากอนาคตซึ่งไม่มีจุดกำเนิดที่แท้จริง เช่น คุณเกิดมาในยุคสมัยที่มีเครื่องไทม์แมชชีน คุณย้อนเวลากลับไปในยุคอดีตที่ยังไม่มีไทม์แมชชีนและบอกความลับในการสร้าง ไทม์แมชชีนให้นักวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่ง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ผู้นั้นจะเป็นนักประดิษฐ์ไทม์แมชชีนในเวลาต่อมา สรุปแล้ว ความรู้ในการสร้างไทม์แมชชีนมาจากไหน?

3. Bilker's paradox คือ การรู้อนาคตแล้วทำให้อนาคตนั้นไม่เป็นจริง เช่น คุณได้เดินทางไปในอนาคตและเห็นว่า โลกอนาคตนั้นไม่น่าอภิรมย์แม้แต่น้อย อย่ากระนั้นเลย คุณกลับมายังปัจจุบันแล้วหาหนทางยับยั้งไม่ให้เกิดอนาคตนั้นจนได้ ถ้าเช่นนั้น อนาคตเดิมที่คุณเคยไปเยือนมันหายไปไหน ในเมื่อมันก็คือความจริงเหมือนกัน?

4. The sexual paradox คือ ข้อขัดแย้งเชิงชีวภาพของการย้อนเวลา ลองนึกถึงหนังเรื่อง Terminator ดูนะครับ หากคุณย้อนเวลากลับไปในอดีตไปแต่งงานกลับแม่ของคุณ คุณจะเป็นพ่อของคุณเอง มีกฎทางพันธุกรรมบางประการที่ทำให้ปรากฏการณ์นี้เป็นไปไม่ได้?

มี ความพยายามที่จะแก้ paradoxes พวกนี้เช่น กลไกการป้องกันตัวของเวลาหรือทฤษฎีหลายโลก ซึ่งก็ซับซ้อนขึ้นไปอีก หากสนใจแนะนำให้อ่านต่อใน reference ที่ 1 ครับ ฟังดูแล้วน่าปวดหัวดีไหมครับ


สุดท้าย...ท้ายสุด ขอแนะนำ นิยายวิทยาศาสตร์อ่านง่ายๆสำหรับผู้ที่สนใจการเดินทางข้ามเวลา

The End of Eternity by Isaac Asimov (จุดดับแห่งนิรันดร์)



นิยาย เอกเทศของลุงไอแซคเล่มนี้กล่าวถึง องค์กรนิรันดร์กาลที่สามารถประดิษฐ์ยานเวลาและสนามเวลาได้ ทำให้พวกเขาเป็นอิสระจากกาลเวลา และสามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้โดยไม่มีผลกระทบกับตนเอง องค์กรนิรันดร์กาลเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์เพื่อความสงบสุขสูงสุด ของมนุษยชาติ พวกเขาเปลี่ยน “สภาวะแท้จริง” ของมนุษยชาติซ้ำๆกันหลายครั้งเพื่อจุดประสงค์นี้ แต่พวกเขาจะแน่ใจได้อย่างไรว่า สิ่งที่ทำนั้นเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติจริงๆ? และพวกเขาจะแน่ใจได้อย่างไรว่า “สภาวะแท้จริง” ของตนเองนั้นก็ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยองค์กรอื่น...

สิ่งที่น่าสนใจของ นิยายเรื่องนี้คือ อาสิมอฟแบ่งปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาเป็นสองประเด็นคือ ปัญหาเชิงทฤษฎีในการสร้างยานเวลา ซึ่งอาสิมอฟไม่ได้ขยายความว่ายานเวลาในนิยายของเขาใช้หลักการอะไร กล่าวเพียงแต่ว่าใช้พลังงานจากซุปเปอร์โนวาในการผลักดัน กับอีกประเด็นคือ ปัญหาข้อขัดแย้งของเวลา (Time’s paradoxes) ซึ่งแก้ไขโดยเทคโนโลยีสนามเวลาซึ่งลัดวงจรกาล-อวกาศออกเป็นอิสระจากการไหล ของกาลเวลาทำให้องค์กรนิรันดร์กาลไม่ได้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงประวัติ ศาสตร์


The Forever War by Joe Haldeman (สงครามชั่วนิรันดร์)



สงคราม อันยาวนานระหว่างมนุษยชาติกับมนุษย์ต่างดาวทัวแรนซ์ ฮาเดมานพาผู้อ่านผ่านประวัติศาสตร์สงคราม 1,000 กว่าปีผ่านชีวิตของทหารคนหนึ่งเพียงไม่กี่ปี เนื่องจากเขาได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ time dilation ระหว่างการเดินทางของยานรบสงครามนั่นเอง

ตัวเอกของเรื่อง ทหาร—นายพลแมนเดเลเอฟผ่านสงครามตั้งแต่มันเริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาอายุเพียง 20 ปี ตลอดเวลาที่เดินทางด้วยความเร็วแสงทำให้พระเอกแก่ช้ามาก ขณะที่โลกภายนอกเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อพระเอกกลับมาโลกเป็นครั้งแรก น้องชายก็กลายเป็นคนแก่วัยกลางคน การปกครองโลกเปลี่ยนเป็นระบบคล้ายคอมมิวนิสต์ เมื่อออกเดินทางต่อ โลกก็เปลี่ยนไปอีก มนุษย์ทุกคนกลายเป็นพวกรักร่วมเพศและเกิดจากมดลูกเทียม เมื่อสงครามสิ้นสุดลงพระเอกก็แก่ขึ้นเพียงไม่กี่สิบปี ขณะที่มนุษยชาติเปลี่ยนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตสำนึกร่วมสากล—

นิยาย เรื่องนี้ได้รางวัลฮิวโกและเนบิวลา นอกจากประเด็นเรื่องผลกระทบจากการเดินทางด้วยความเร็วแสงแล้ว ผู้เขียนยังสอดแทรกประเด็นเกี่ยวกับสงครามไว้อย่างน่าสนใจ (เป็นเพราะผู้เขียนเคยเข้าร่วมสงครามเวียดนาม) ตลอดทั้งเรื่องจะพบการจิกกัดอเมริกาประเทศมหาอำนาจเป็นระยะๆ และเมื่อตอนจบเราจะรู้ว่าสงครามเป็นสิ่งไร้สาระเพียงใด

นิยายทั้งสองเล่มนี้ แนะนำให้อ่านและไม่ควรพลาดโดยประการทั้งปวงครับ




References:

Brian Greene, ผู้แปล ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ, ทอถักจักรวาล (The Fabric of The Cosmos). สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2551

Parallel world. Michio Kaku. 1st edition. 2006

นิตยสาร UpDATE ฉบับ 177 พฤษภาคม 2545

http://www.vcharkarn.com