วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หากโลกนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม...

หากโลกนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม...

สวัสดีปีใหม่ครับ

ขอต้อนรับทุกคนเข้าสู่ปีใหม่ ด้วยบล็อกทบทวนว่าปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ทั้งนี้สมมติว่าโลกเพิ่งกำเนิดเมื่อต้นปี วันที่ 1 ม.ค.นะครับ


ทาง โบราณคดีแบ่งโลกเป็น 3 มหายุค (era) แต่ละมหายุคแบ่งออกเป็นยุค (period) และแต่ละยุคแบ่งออกเป็นสมัย (epoch) ตามเหตุการณ์ทางธรณีและชีววิทยา ดังนั้นแต่ละมหายุคจึงมีระยะเวลาไม่เท่ากันครับ




มหายุคทั้งสาม Paleozoic, Mesozoic และ Cenozoic ตามลำดับ แต่ละยุคมีระยะเวลาไม่เท่ากัน (Click เพื่อขยายภาพ)



ก่อนมหายุคทั้งสามเรียกว่า Pre-cambrian ซึ่งกินเวลายาวนานราว 4,000 ล้านปีหรือราว 11 เดือนกว่าๆ

มหายุคที่ 1 คือมหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic era) ซึ่งแบ่งเป็นยุคย่อยๆดังนี้

๐ ยุคแคมเบรียน (Cambrian peroid)
๐ ยุคออร์โดวีเชียน (Ordovician period)
๐ ยุคไซลูเรียน (Silurian period)
๐ ยุคดีโวเนี่ยน (Devonian period)
๐ ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferus period)
๐ ยุคเปอร์เมี่ยน (Permian period)


มหายุคที่ 2 คือมหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic era) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ยุคดังนี้

๐ ยุคไทรแอสซิก (Triassic Period)
๐ ยุคจูแรสซิก (Jurassic Period)
๐ ยุคครีเทเชียส (Cretaceous Period)


มหายุคที่ 3 คือมหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic era) แบ่งเป็น 2 ยุค

๐ ยุคเทอร์เทียรี (Tertiary Period)
๐ ยุคควอเทอร์นารี(Quaternary Period)





เปรียบเทียบเหตุการณ์ตามมาตรกาลเวลา ย่นย่อ 4,600 ล้านปีให้เหลือเพียง 1 ปี (Click เพื่อขยายภาพ)



วันที่ 1 ม.ค. กำเนิดโลก
4,600 ล้านปีที่แล้ว


เมื่อ โลกถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรก มันดูแตกต่างจากตอนนี้อย่างสิ้นเชิง คล้ายลูกกลมของก๊าซที่ร้อนระอุ เต็มไปด้วยลาวาและเปลวเพลิง ต้องใช้เวลาอีกหลายล้านปี ผิวนอกของโลกจึงค่อยๆเย็นลงและแข็งตัวกลายเป็นลูกหินขนาดยักษ์ กระนั้นก็ยังเต็มไปด้วยลาวาและทะเลเพลิงที่ลุกโหม

บรรยากาศในช่วงแรก ประกอบด้วยก๊าซไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนียและมีเทน ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาสันดาปภายในและบนผิวโลก ไม่มีน้ำอยู่เลย หรือแม้แต่ออกซิเจนก็มีน้อยมากๆ ต้องคอยอีกหลายร้อยล้านปีจึงจะมีมากพอที่จะวัดค่าได้

แล้วน้ำมาจากไหน

ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าน้ำมาจากอุกกาบาตครับ (หรือบ้างก็ว่าเกิดจากปฏิกิริยาระหว่าง H2 และ O2 แต่อย่างที่บอกไป O2 ในยุคแรกของโลกมีน้อยยิ่งกว่ายิ่งครับ) โลกในยุคแรกปราศจากชั้นบรรยากาศ จึงเปรียบเสมือนเป้าชั้นดีให้เหล่าเทวดายิงอุกกาบาตเล่น อุกกาบาตที่พุ่งชนผิวโลกจำนวนมากมายมหาศาลเพิ่มเนื้อมวลให้โลกและนำน้ำมา เติมเต็มให้โลกนี้ด้วย เมื่อตกกระทบผิวโลกที่ร้อนระอุ น้ำก็ระเหยเป็นไอน้ำอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นชั้นบรรยากาศยุคแรก

ไอน้ำ ที่มีปริมาณมหาศาลจนอิ่มตัวบนชั้นบรรยากาศก็มีอันต้องควบแน่นเป็นหยดน้ำ ตกลงมาเป็นฝน เมื่อน้ำฝนตกสู่ผิวโลกที่ยังคงร้อนมากก็ระเหยกลายเป็นไอน้ำกลับสู่ชั้น บรรยากาศอีก ตกกลับมาฝน วนเวียนเช่นนี้ไม่รู้จบเกิดเป็นฝนที่ยาวนานที่สุดใน(ก่อน)ประวัติศาสตร์ กระบวนการดังกล่าวช่วยลดอุณหภูมิของโลกลงอย่างเรื่อยๆ

สุดท้ายเมื่อ อุณหภูมิของโลกเย็นลงพอ มหาสมุทรก็เกิดขึ้น การเกิดมหาสมุทรนี้เป็นขั้นตอนสำคัญยิ่ง เนื่องจากมหาสมุทรเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดชีวิตทั้งปวงครับ




โลกในยุคแรกเต็มไปด้วยอุกกาบาตที่ตกลงมาบนพื้นผิวที่ลุกเป็นไฟ



วันที่ 15 มี.ค. กำเนิดสิ่งมีชีวิต
3,600 ล้านปีที่แล้ว


ทะเล ในยุคแรกต่างจากทะเลในยุคปัจจุบันรวมไปถึงทะเลที่ชาวหว้ากอชอบออกกันบ่อยๆ อย่างมาก องค์ประกอบของแร่ธาตุที่ต่างจากปัจจุบัน รสชาติก็น่าจะออกเปรี้ยวมากกว่าเค็ม ต้องรอหลายล้านปีกว่าที่แร่ธาตุจะถูกชะล้างลงมาสะสมกันมากพอจนทะเลมีรสชาติ ออกเค็ม

ทะเลในยุคแรกมีแร่ธาตุหลายชนิดละลายปะปนกันอยู่จำนวนมาก ทั้งคาร์บอน ไนโตรเจน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ซัลเฟอร์ และโลหะหนัก เนื่องจากในช่วงแรกบรรยากาศโลกขาดแคลนทั้งออกซิเจนและโอโซน จึงแทบจะปราศจากตัวดูดซับรังสี UV จากดวงอาทิตย์ รังสี UV ที่ทะลุทะลวงลงไปในโลกท้องทะเลเป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาเคมีชั้นดีร่วมกับ สภาวะอื่นๆเช่น ความร้อน ความดัน ทำให้ทะเลเปรียบเสมือนห้องครัวที่ผลิตสารเคมีซับซ้อนหลายชนิดอย่างน่า อัศจรรย์ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นน้ำซุปแห่งชีวิต (primordial soup)

ด้วย เหตุนั้น ชีวโมเลกุลง่ายๆจึงเริ่มบังเกิดขึ้นครั้งแรกบนโลกนี้ ทั้งน้ำตาล นิวคลีโอไทด์ กรดไขมันและกรดอะมิโน สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่แม้แต่นักชีววิทยาในปัจจุบันก็ ยังไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด โมเลกุลเหล่านั้นเกิดการรวมตัวเป็นสายยาว อยู่ร่วมกันและสามารถจำลองแบบและเพิ่มจำนวนได้ด้วยตนเอง (central dogma DNA --> RNA --> Protein คำถามที่ยังเป็นปริศนาในปัจจุบันคือกระบวนการที่สารเคมีดังกล่าวมารวมตัวกัน แล้วทำให้เกิด central dogma นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ทฤษฎีที่น่าเชื่อถือที่สุดกล่าวว่า ในยุคแรก RNA น่าจะเป็นสารพันธุกรรมแทนที่จะเป็น DNA เนื่องจาก RNA มีคุณสมบัติทั้งเป็นข้อมูลพันธุกรรม (genetic information) และตัวเร่งปฏิกิริยา (enzyme) ได้ในตัวเอง อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวค่อนข้างซับซ้อนและจะไม่พูดถึงในที่นี้ หากสนใจ อ่านเพิ่มเติมได้ใน reference ที่ผมอ้างอิงได้ครับ)

กลุ่มสารเคมีที่ สามารถจำลองและเพิ่มจำนวนตนเองได้อยู่ร่วมกันในโครงสร้างที่มี lipid bilayer ล้อมรอบ ด้วยเหตุนี้เซลล์ในยุคแรกก็เกิดขึ้น จากนั้นสิ่งอัศจรรย์อื่นๆก็ตามมาเมื่อเซลล์เหล่านั้นวิวัฒน์ตัวเองให้สามารถ อยู่รอดได้นานขึ้น ถ่ายทอดข้อมูลพันธุกรรมของตนเองต่อไปได้ไม่รู้จบ ทั้งการฟอร์มถุงเล็กๆภายในเซลล์เพื่อกักเก็บโปรตีนบางชนิดที่ทำหน้าที่เฉพาะ การรวมกลุ่มกันของสารพันธุกรรมให้มีโครงสร้างและหน้าที่จำเพาะ หรือการ “กลืนกิน” เซลล์ขนาดเล็กกว่าแล้วเกิดการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยเช่น ไมโทครอนเดรีย หรือแม้แต่การพัฒนา “เพศ” ก็เกิดในยุคนี้เช่นกัน รังสี UV จากดวงอาทิตย์ทำให้การกลายพันธุ์ของเซลล์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

สิ่งมีชีวิต ในยุคแรกใช้พลังงานในการดำเนินกิจกรรมภายในเซลล์โดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วย แสง (photosynthesis) ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำได้ผลผลิตเป็นคาร์โบ ไฮเดรตและก๊าซออกซิเจน กิจกรรมดังกล่าวทำให้เกิดก๊าซออกซิเจนปลดปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ สิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตทั้งมวลบนโลกในยุคถัดไป




รูปแสดงวิวัฒนาการของเซลล์



(กิจกรรม ของเหล่าโปรคาริโอต (สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีเยื่อหุ้มออร์แกแนลล์) และเหล่ายูคาริโอต (สิ่งมีชีวิตที่มีเยื่อหุ้มออร์แกแนลล์) ในยุคแรกมีความซับซ้อนและมีรายละเอียดที่น่าสนใจมากกว่านี้ครับ จขบ.แนะนำว่าควรอ่านหนังสือเพิ่มเติม หากมีความสนใจในเรื่องนี้)


วันที่ 16 พ.ย. ยุคแคมเบรียน (Cambrian peroid)
570 ล้านปีที่แล้ว


ไม่ น่าเชื่อที่ทะเลถูกครองด้วยเหล่าสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวและสิ่งมีชีวิตหลาย เซลล์ที่ไม่ซับซ้อนยาวนานกว่าสามพันล้านปี ก่อนที่จะเกิด “ระเบิด” ทางชีวภาพ นักชีววิทยาต่างพากันฉงนที่จู่ๆสิ่งมีชีวิตทุกไฟลัม (ยกเว้น phylum bryozoa) ก็เกิดอุบัติมาพร้อมๆกันในช่วงเวลาเดียวกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า Cambrian explosion หรือ Biological Big Bang ครับ

ยุคแคมเบรียนเป็นยุคที่จู่ๆก็มีสิ่งมีชีวิตบังเกิดขึ้นมากมาย ทั้งหน้าตาก็ล้วนแปลกประหลาดอัศจรรย์ทั้งสิ้น ครั้งแรกฟอสซิลของพวกมันถูกขุดค้นพบในเหมืองร้างอีเดียคาร่า (Ediacara) ทั้งหมด พวกมันจึงถูกเรียกว่า “สิ่งมีชีวิตจากอีเดียคาร่า” ครับ (แม้ในกาลต่อมาจะถูกค้นพบฟอสซิลในบริเวณอื่นๆของโลกก็ตาม)

สิ่งมีชีวิตแห่งอีเดียคาร่ามีอะไรบ้าง จะลองยกตัวอย่างดูนะครับ




เริ่มต้นด้วยเจ้าไทรโลไบต์ (Trilobites) ซึ่งแพร่กระจายครอบครองมหาสมุทรแทบทุกบริเวณบนโลกนี้ ลักษณะคล้ายแมงดาทะเลหรือกิ้งกือทะเลตัวแบนที่มีร่างเป็นข้อปล้องและระยางค์ จำนวนมากด้านล่างเก็บกินซากอินทรีย์ใต้พื้นทะเล




คาร์เนีย (Charnia) หนอนใบไม้ที่พบกระจัดกระจายทั่วท้องทะเลไม่แพ้ไทรโลไบต์ นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่าใบไม้ของมันทำหน้าที่คล้ายซี่หวีกรองอาหารครับ




โอปาบีเนีย (Opabenia) หนอนทะเลที่มีดวงตาห้าดวง ขากรรไกรรูปคีม นักล่ายุคแรกๆแห่งทะเลโบราณ




ฮัลลูซิจีเนีย (Hallucigenia) หนอนทะเลที่มีเดือยแหลมเจ็ดคู่ไว้ป้องกันตัวจากนักล่า หน้าตาของมันชวนให้ผู้เห็นคิดว่านี่เราประสาทหลอน (Hallucination) ไปหรือเปล่านะ




ตัวสุดท้ายที่จะยกตัวอย่างคือ เจ้าพิคาเอีย (Pikaia) บรรพบุรุษของพวกทั้งมวลในปัจจุบัน เนื่องจากมันเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่มีอวัยวะเป็นแกนสันหลังหรือโนโตคอร์ด (notocord) นั่นเองล่ะครับ

กล่าว โดยสรุป สิ่งมีชีวิตในยุคแคมเบรียนอาจแบ่งได้อย่างง่ายๆเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ที่น่าสังเกตคือยังไม่มีพืชชั้นสูงเกิดขึ้นเลยในยุคนี้

(1) กลุ่มสาหร่าย ผู้ผลิตออกซิเจนสู่ชั้นบรรยากาศโดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง
(2) กลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ต้องหากินอาหารจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตามที่ยกตัวอย่างมาแล้ว
(3) กลุ่มแบคทีเรียที่มีโครงสร้างและการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายที่ยังมีอยู่ถึงในปัจจุบัน


Cambrian explosion เปรียบเสมือนบทโหมโรงของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลในยุคต่อๆมา เนื่องจากเป็นยุคแรกที่สิ่งมีชีวิตมีตา (แม้จะเป็นตาประกอบและประสิทธิภาพก็ยังอาจจะด้อยกว่าแมลงวัน) ทำให้ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ได้เห็นโลกนี้อย่างที่มันควรจะเป็น จากเดิมที่ต้องคลำทางหาอาหารแบบสะเปะสะปะ นักล่า เหยื่อ การแข่งขัน การคัดเลือกเพื่อการอยู่รอดเริ่มขึ้นอย่างจริงจังก็เริ่มต้นขึ้น ณ บัดนี้ครับ


หากโลกนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม... (2)

21 พ.ย. ยุคออร์โดวีเชียน (Ordovician period)
510 ล้านปีที่แล้ว


ถึง แม้บรรยากาศจะเริ่มมีก๊าซออกซิเจนแล้ว ก็ยังไม่มีสิ่งมีชีวิตอาจหาญขึ้นบก เนื่องจากผนังโอโซนที่ยังบางเบาไม่สามารถกรองรังสี UV ได้มากพอ ต้องรอไปถึงปลายยุคดีโวเนี่ยนนู่นเลยครับ กว่าจะมีสิ่งมีชีวิตที่ซ่าขึ้นตะลุยแผ่นดิน ดังนั้นทะเลก็ยังคงเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล

ต้นยุคออร์โดวี เชียนเกิดเหตุการณ์สำคัญคือการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกอันเนื่องมาจากการ เคลื่อนตัวของเปลือกโลก ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นจนเกิดพื้นที่ตื้นเขินจำนวนมาก ซึ่งสิ่งมีชีวิตก็ไม่รอช้าที่จะแพร่ขยายไปครอบครองพื้นที่ดังกล่าว เกิดแนวปะการังทั่วทุกชายฝั่งทะเล

สัตว์จำพวกหนอนทะเลต่างพากันสูญ พันธุ์ไปจนหมดสิ้น ขณะที่ตัวไทรโบไลต์ยังคงมีให้เห็นเต็มไปหมด และยังวิวัฒนาการเพิ่มขนาดตัวเองให้ใหญ่โตขึ้นอีกต่างหาก

ออร์โดวีเชียนเป็นยุคของหอยและปลาหมึก (Cephalopods) และสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังครับ





วันที่ 27 พ.ย. ยุคไซลูเรียน (Silurian period)
439 ล้านปีที่แล้ว


ปลาไม่มีขากรรไกรและมีเกราะหุ้มหัว (ostracoderm) เกิดขึ้นครั้งแรกในยุคนี้ สัตว์อีกตัวที่น่าสนใจก็คือแมงป่องยักษ์แห่งท้องทะเล (Eurypterids) ซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 2 เมตรและใช้ก้ามขนาดมหึมาในการล่าเหยื่อ นับเป็นฝันร้ายของปลาขนาดเล็กในยุคนั้น




ostracoderm ไม่มีขากรรไกรและมีเกราะหนา ปากที่ไม่มีขากรรไกรใช้วิธีดูดหาอาหารตามพื้นท้องทะเล





Eurypterids แมงป่องยักษ์นักล่าแห่งท้องทะเล



ปลา ไม่มีขากรรไกรเป็นสัตว์ที่ดูเทอะทะ เนื่องจากมันต้องแบกเกราะหนักเหมือนนักรบติดตัวไปด้วย เพื่อประโยชน์ในการป้องกันแต่ก็เป็นข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ทำให้เคลื่อนที่ได้ช้ามาก อีกทั้งยังไม่มีครีบข้างด้วย (ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายล้านปีกว่าจะวิวัฒนาการมันขึ้นมา)





ในปลายยุคนี้ ปลามีขากรรไกร (placoderm) วิวัฒนาการขึ้นมาแทนที่ ขากรรไกรได้เปลี่ยนลักษณะการกินอาหารของปลาจากเดิมที่เคย “ดูด” ก็เปลี่ยนเป็น “งับ” แทน เกราะที่เคยหนาหนักก็เปลี่ยนเป็นเกราะเบาซึ่งจะเป็นต้นแบบของเกล็ดปลาในเวลา ต่อมา

ที่น่าสนใจคือ ในยุคนี้พืชได้พัฒนาระบบท่อลำเลียง (psilopid) และรุกคืบไปบนบก ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของโลกในเวลาต่อมาครับ


วันที่ 30 พ.ย. ยุคดีโวเนี่ยน (Devonian period)
408 ล้านปีที่แล้ว


ยุคดี โวเนี่ยนคือยุคแห่งปลาอย่างแท้จริง เนื่องจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกทำให้พื้นทะเลถูกดันขึ้นสูงเป็นภูเขา ในขณะที่พื้นดินทรุดตัวกลายเป็นก้นทะเล พวกปลาจึงได้วิวัฒนาการแตกแขนงออกไปมากมายทั้งปลาน้ำจืดและน้ำเค็ม ปลามีขากรรไกรเข้ามาแทนที่ปลาไม่มีขากรรไกร และยังปรากฏปลากระดูกอ่อน (chondrichthyes) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของปลาฉลาม และปลากระดูกแข็ง (osteichthyes) ตามมาอีกด้วย

บรรยากาศโลกที่ร้อนมากขึ้นทำให้แม่น้ำ บางแห่งเหือดแห้งลง ปลาบางชนิดพัฒนาถุงลมเพื่อช่วยในการหายใจและการลอยตัวในน้ำ ปลาบางชนิดพัฒนาครีบเพื่อเคลื่อนไหวบนพื้นดินซึ่งจะวิวัฒนาการเป็นสัตว์ ครึ่งบกครึ่งน้ำในเวลาต่อมา

ขณะเดียวกัน ปริมาณรังสีที่ลดลงเนื่องจากชั้นโอโซนที่หนาแน่นมากขึ้น ทำให้เหล่าพืชเริ่มก้าวขึ้นไปบนบกตามเห็ดราที่ได้บุกเบิกไปก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่ใช่ของง่าย พวกมันต้องพัฒนาผนังเซลล์ที่หนาเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ พัฒนาระบบค้ำจุนเพื่อต้านทานแรงโน้มถ่วงของโลก พัฒนาใบเพื่อให้รับแสงแดดได้เต็มที่ พัฒนายุทธวิธีหายใจ (Stomata--รูปากใบ) เพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในโครงสร้าง และพัฒนาระบบรากที่สลับซับซ้อนเพื่อค้ำจุนและเจาะทะลุพื้นดินเพื่อหาแหล่ง น้ำและแร่ธาตุ เหล่าพืชยุคบุกเบิกที่มีพลังชีวิตที่เข้มแข็งและผ่านการปรับตัวต่างๆนานา เท่านั้นที่จะผงาดยืนอยู่บนบกได้ อย่างไรก็ตาม พืชในยุคดีโวเนียนยังคงเป็นพืชโบราณที่แพร่พันธุ์โดยใช้สปอร์เป็นหลัก ขณะที่พืชมีเมล็ดก็พบได้บ้างและมีข้อได้เปรียบในการสืบพันธุ์มากกว่าครับ




ท้องทะเลในยุคดีโวเนี่ยนถูกครอบครองด้วยปลา



ขณะ ที่ในทะเลถูกเหล่าปลามีขากรรไกรยุคแรกยึดครอง ชายทะเลที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยเศษซากอินทรีย์ต่างๆก็เรียกให้เหล่าแมลง (Arthropods) หรือสัตว์ที่มีข้อปล้องรุกคืบขึ้นบนบก กิ้งกือ ตะขาบ ปู กุ้ง แมงดาทะเล เป็นสิ่งมีชีวิตทัพแรกที่อาจหาญขึ้นบก เก็บกินซากสวะที่ถูกพัดพามาด้วยลมทะเล ขยะที่เปียกชุ่มทำให้พวกมันไม่ต้องกลัวว่าผิวหนังจะหแง และค่อยๆวิวัฒนาการให้ร่างกายทนต่อความแห้งแล้งบนบกได้มากขึ้น ขาแบบข้อปล้องทำให้มันรับน้ำหนักของร่างกายได้โดยไม่ต้องอาศัยน้ำในการพยุง ตัว

ในทะเลเต็มไปด้วยปลาที่แก่งแย่งอาหารกัน ส่วนบนบกเต็มไปด้วยแมลง กดดันให้เกิดสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำวิวัฒนาการขึ้นมาหาอาหารจำพวกแมลงบนบก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในยุคแรกยังคงมีร่องรอยของปลาเหลืออยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นช่องเหงือก ครีบหาง ขาที่พัฒนามาจากครีบข้าง


วันที่ 2 ธ.ค. ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous period)
362 ล้านปีที่แล้ว


ยุคคาร์บอนิเฟอรัสรู้จักกันดีในชื่อ “ยุคถ่านหิน” เนื่องจากโลกในขณะนั้นเต็มไปด้วยป่าไม้สูงผงาด (lepidodendron สูงถึง 50 เมตร) เต็มไปหมด ซึ่งเป็นพวก คลับมอส (clubmoss) และแส้หางม้า (horse tail) เสียส่วนใหญ่ พืชเหล่านี้ยังคงขยายพันธุ์ด้วยวิธีโบราณคือใช้สปอร์

ใน แต่ละครั้งที่เกิดพายุหรือแผ่นดินไหว พืชเหล่านี้จะโค่นล้มลงมาและถมทับ ย่อยสลายภายใต้แรงอัดจากพืชที่อยู่ด้านบนแปรสภาพเป็นถ่านหินและน้ำมันเชื้อ เพลิงที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน





ขณะ เดียวกัน เหล่าแมลงก็วิวัฒนาการขึ้นมากมายทั่วผืนป่าทั้ง แมงมุม แมงป่อง ตะขาบ ตั๊กแตน แมลงปอ (ใช่แล้ว แมลงเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่เอาชนะแรงโน้มถ่วงโลก มันบินได้) และแมลงสาป (สัตว์เลี้ยงแสนรักของห้องหว้ากอ) ที่น่าประหลาดคือแมลงเหล่านี้มีขนาดมหึมาเช่นเดียวกับเหล่าพืช แมลงสาปตัวยาวเป็นฟุต แมลงปอมีปีกกว้าง 2 ฟุต ตะขาบตัวยาวกว่า 2 เมตร

สมมติฐาน ที่เป็นไปได้คือ ยุคคาร์บอนิเฟอรัส บนบกมีความอุดมสมบูรณ์ ปราศจากสัตว์ที่จะมาแก่งแย่งอาหาร อีกทั้งบรรยากาศโลกในขณะนั้นน่าจะมีก๊าซออกซิเจนหนาแน่นกว่าปัจุบัน ทำให้เหล่าแมลงเผาผลาญพลังงานได้อย่างสมบูรณ์

เหล่าสัตว์ครึ่งบก ครึ่งน้ำก็ไม่ยอมแพ้ พวกมันวิวัฒนาการให้อยู่บนบกและทนต่อความแห้งแล้งมากขึ้น สุดท้ายก็แตกแขนงแยกสายวิวัฒนาการออกไปเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งมีชัยชนะอย่างสมบูรณ์ในการอาศัยบนบก การออกไข่เป็นฟองที่มีเปลือกหุ้มแข็งแรงเก็บกักความชื้นไว้ได้เป็นข้อได้ เปรียบในการสืบพันธุ์บนบกเมื่อเทียบกับการกลับไปวางไข่บนแหล่งน้ำของสัตว์ ครึ่งบกครึ่งน้ำ


วันที่ 8 ธ.ค. ยุคเปอร์เมี่ยน (Permian period)
290 ล้านปีที่แล้ว

ยุค นี้มีความผันแปรทางกายภาพของโลกอย่างมาก มีทั้งความแห้งแล้ง และความหนาวเย็นเป็นช่วงๆ ผืนโลกเคลื่อนที่มาประกบกันเป็นแผ่นเดียวคือ แพนเจีย (Pangea) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ สัตว์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์หายไปจากโลกนี้ ทั้งพืช สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเช่น ไทรโลไบต์ ดอกไม้ทะเล สัตว์มีกระดูกสันหลังเช่น ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอีกหลายชนิด

สิ่ง มีชีวิตที่เหลือต้องปรับตัวให้เข้ากับความแปรปรวนของโลก แมลงปรับตัวให้มีขนาดที่เล็กลง มีวงจรชีวิตที่สั้นแต่ซับซ้อนเช่น metamorphosis สัตว์เลื้อยคลานวิวัฒนาการขึ้นหลากหลายมากในช่วงนี้





นักชีววิทยาได้แบ่งสัตว์เลื้อยคลานในยุคนี้ออกเป็น 4 กลุ่มคือ

(1) Anapsids เป็นพวกโบราณที่สุด ไม่มีช่องเปิดหลังดวงตา ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเต่า ตะพาบในปัจุบัน
(2) Synapsids มีช่องเปิดหลังดวงตาหนึ่งช่องและส่วนใหญ่มีแผงกระโดงที่หลัง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นต้นกำเนิดของสัตว์ที่มีขนปกคลุม (สัตว์เลือดอุ่น) ในเวลาต่อมา
(3) Diapsids มีช่องเปิดหลังดวงตาสองช่อง คือพวกจระเข้และไดโนเสาร์ซึ่งยึดครองโลกในมหายุคมีโซโซอิก
(4) Euryapsids มีช่องเปิดส่วนบนกะโหลกหนึ่งช่อง สูญพันธุ์ไปหมดสิ้นหลังจากเฟื่องฟูอย่างมากในยุคไทรแอสซิค

หากโลกนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม... (3)

วันที่ 12 ธ.ค. ยุคไทรแอสซิก (Triassic period)
245 ล้านปีที่แล้ว


จุด เริ่มต้นของมหายุคมีโซโซอิค (ยุคแห่งสัตว์เลื้อยคลาน) สัตว์เลื้อยคลานมีการวิวัฒนาการอย่างมากมายหลากหลายจนกลายเป็นสัตว์กลุ่ม เด่นในช่วงเวลานี้ ทั้งนี้บรรยากาศโลกที่ร้อนและแห้งแล้งก็เหมาะสมกับสัตว์เลือดเย็นอย่างพวก มัน ขณะเดียวกันบางพวกก็วิวัฒนาการกลับสู่ทะเล เนื่องจากบนบกเต็มไปด้วยคู่แข่งในการล่าอาหาร กิ้งก่าทะเลเหล่านี้กลายเป็นเจ้าทะเลแทนที่เหล่าปลาที่ยึดครองผืนน้ำมาเป็น เวลานาน

ส่วนพวกที่อยู่บนบกก็วิวัฒนาการกันอย่างก้าวกระโดด ทั้งพวกที่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหารรู้จักการล่าเป็นฝูง พัฒนากล้ามเนื้อขาที่ทำให้วิ่งได้อย่างว่องไว หรือพัฒนาคมเขี้ยวให้สังหารเหยื่อได้อย่างรวดเร็ว พวกที่กินพืชพัฒนาตัวเองให้มีผิวหนังหนา รูปร่างใหญ่โตเพื่อป้องกันตนเอง หรือแม้แต่การพัฒนาพังผืดให้สามารถ “ร่อน” กลางอากาศได้ก็เกิดขึ้น ไดโนเสาร์เกิดขึ้นในยุคนี้





ไดโนเสาร์ (Dinosaur) เป็นชื่อเรียกโดยรวมของดึกดำบรรพ์ในอันดับใหญ่ Dinosauria ซึ่งเคยครองระบบนิเวศน์บนพื้นพิภพ ในมหายุคมีโซโซอิก เป็นเวลานานถึง 165 ล้านปี ก่อนจะสูญพันธุ์ ไปเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลื้อยคลาน แต่อันที่จริงไดโนเสาร์เป็นสัตว์ในอันดับหนึ่งที่มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่าง สัตว์เลื้อยคลานและนก

คำว่า ไดโนเสาร์ ในภาษาอังกฤษ dinosaur ถูกตั้งขึ้นโดย เซอร์ ริชาร์ด โอเวน นักบรรพชีวินวิทยา ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นการผสมของคำในภาษากรีกสองคำ คือคำว่า deinos (ใหญ่จนน่าสะพรึงกลัว) และคำว่า sauros (สัตว์เลื้อยคลาน)

หลายคนเข้าใจผิดว่า ไดโนเสาร์ คือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในมหายุคมีโซโซอิกทั้งหมด แต่จริงๆ แล้ว ไดโนเสาร์ คือสัตว์ชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่บนพื้นดินเท่านั้น สัตว์บกบางชนิดที่คล้ายไดโนเสาร์ สัตว์น้ำและสัตว์ปีกที่มีลักษณะคล้ายไดโนเสาร์ ไม่ถือว่าเป็นไดโนเสาร์ เป็นเพียงสัตว์ชนิดที่อาศัยอยู่ในยุคเดียวกับไดโนเสาร์เท่านั้น

ไดโนเสาร์ ถูกแบ่งออกเป็นสองอันดับใหญ่ ๆ ตามลักษณะโครงสร้างของกระดูกเชิงกราน คือ Saurischia (เรียกไดโนเสาร์ในอันดับนี้ว่า ซอริสเชียน) ซึ่งมีลักษณะกระดูกเชิงกรานแบบสัตว์เลื้อยคลาน มีทั้งพวกกินพืชและกินสัตว์ และ Ornithischia (เรียกไดโนเสาร์ในอันดับนี้ว่า ออร์นิทิสเชียน) มีกระดูกเชิงกรานแบบนกและเป็นพวกกินพืชทั้งหมด

-ไดโนเสาร์ สะโพกสัตว์เลื้อยคลาน หรือ ซอริสเชียน (จากภาษากรีก แปลว่าสะโพกสัตว์พวกกิ้งก่า) เป็นไดโนเสาร์ที่คงโครงสร้างของกระดูกเชิงกรานตามบรรพบุรุษ ซอริสเชียนรวมไปถึงไดโนเสาร์เทอโรพอด (theropod) (ไดโนเสาร์กินเนื้อเดินสองขา) และซอโรพอด (sauropod) (ไดโนเสาร์กินพืชคอยาว)
-ไดโนเสาร์สะโพกนก หรือ ออร์นิทิสเชียน (จากภาษากรีก แปลว่าสะโพกนก) เป็นไดโนเสาร์อีกอันดับหนึ่ง ส่วนใหญ่เดินสี่ขา และกินพืช


สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี



สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับไดโนเสาร์ทั้งหมดในมหายุคมีโซโซอิค หากสนใจเพิ่มเติมแนะนำเว็บไซต์ดังนี้ครับ

http://school.obec.go.th
http://www.school.net.th/library/snet4/dinosaur
http://intranet.most.go.th

ที่ น่าสนใจคือ สัตว์เลี้ยงลูกนมพวกแรกก็เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน ซึ่งวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลานกึ่งเลี้ยงลูกด้วยนม โดย mammal ยุคแรกคือพวกโมโนทรีม (monotreme) ซึ่งยังคงวางไข่เช่นเดียวกับสัตว์เลื้อยคลาน ใช่แล้วครับ โมโนทรีมคือต้นตระกูลของตุ่นปากเป็ดในปัจจุบัน




โมโนทรีมเป็นบรรพบุรุษของตุ่นปากเป็ด



วันที่ 15 ธ.ค. ยุคจูแรสซิก (Jurassic period)
208 ล้านปีที่แล้ว


ยุคแห่งไดโนเสาร์อย่างแท้จริง และกลายเป็นชื่อหนังทำเงินตลอดกาลของสตีเว่นส์ สปีลเบิร์ก (ทั้งๆ ที่ไดโนเสาร์มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในเรื่องอยู่ในยุคครีเตเชียส แต่ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าหนังเปลี่ยนเป็นชื่อ “Cretaceous Park” มันจะทำเงินน้อยกว่านี้หรือไม่)





ก่อน ที่จะถึงยุคจูแรสซิก ทวีปแพนเจียได้แยกออกจากกันแล้ว การแยกตัวของทวีปนั้นมีความสำคัญมาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการวิวัฒนาการแยกสายบนผืนโลกที่มีสภาพแวดล้อมต่าง กันในกาลต่อมา แต่กระนั้นในยุคนี้ ทวีปต่างๆก็ยังไม่ได้แยกจากกันอย่างสมบูรณ์เท่าไรนัก ยังพอมีสะพานแผ่นดินให้ไดโนเสาร์ไปมาหาสู่กันได้บ้างครับ

วิวัฒนาการสำคัญอีกประการหนึ่งในยุคนี้ หลีกหนีจะพูดถึงเจ้าอาคีออฟเทอริกซ์ (Archaeopteryx) ไม่ได้แน่นอน นกตัวแรกของโลกใบนี้ ขนาดพอๆกับอีกาแต่มีจุดร่วมของทั้งนกและสัตว์เลื้อยคลานอยู่ในตัวเดียวกัน ทั้งฟันซี่เล็กที่เรียงกันในปาก กรงเล็บที่มือ กระดูกหางเรียงเป็นท่อน รวมกับปีกและขนแบบนก




อาคีออฟเทอริกซ์ เกาะอยู่บนต้นแปะก๊วย



ทางด้านพืช ในปลายยุคนี้ได้ประสบความสำเร็จสูงสุดเมื่อพัฒนาดอกไม้ (Angiosperm) เพิ่มความสามารถในการสืบพันธุ์แบบมีเพศ ดอกไม้ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ต่างแข่งขันดึงดูด “พาหะ” อย่างแมลงทำให้เกิดวิวัฒนาการร่วม (coevolution) ระหว่างดอกไม้และแมลง ดอกไม้มีหลายรูปแบบและสีสัน ส่วนแมลงก็พัฒนารูปร่างให้เหมาะสมกับการกินน้ำหวานดอกไม้ เป็นความสัมพันธ์แบบสลับซับซ้อนที่เราเห็นในปัจจุบัน


วันที่ 20 ธ.ค. ยุคครีเตเชียส (Cretaceous period)
145 ล้านปีที่แล้ว


พืช มีดอกยังคงวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง สร้างป่าดิบชื้นที่มีหลายฤดูขึ้นหลายแห่งบนโลก สัตว์มีกระดูกสันหลังยังคงแพร่ขยายพันธุ์ทั้งในน้ำและบนบก แน่นอนที่สุดทั่วโลกเต็มไปด้วยไดโนเสาร์และนก ขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยังคงสงบสเงี่ยมเจียมตัวอยู่เงียบๆ ซากดึกดำบรรพ์บ่งชี้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคนี้มีร่างกายขนาดเล็กและพบ เพียงไม่กี่ชนิด

ขณะที่ไดโนเสาร์ขนาดยักษ์ครอบครองโลกอย่างลำพองใจ มหันตภัยเงียบก็เข้ามาใกล้...

รอย ต่อระหว่างยุคครีเตเชียสกับยุคเทอร์เชียรีของมหายุตซีโนโซอิกได้เกิดมหันต ภัยครั้งใหญ่ที่กวาดล้างเอาไดโนเสาร์ทั้งหมดออกจากโลกใบนี้และเปิดทางให้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก้าวกระโดดขึ้นมาครองโลกแทน การสูญพันธุ์ครั้งดังกล่าวเรียกว่า K-T extinction

(มีคำ ถามว่าทำไมไม่เป็น C-T extinction: Cretaceous-Tertiary แทนที่จะเป็น K-T extinction ก็เพื่อป้องกันการสับสนกับยุค Carboniferus ที่ขึ้นต้นด้วยตัว C เหมือนกันขณะที่ยุค Cretaceous ออกเสียงคล้ายตัว K มากกว่าครับ)

มี ทฤษฎีมากมายที่พยายามจะอธิบายสาเหตุ K-T extinction แม้แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังมีทฤษฎีใหม่ๆประหลาดๆออกมาอีกเรื่อยๆ แต่แน่นอนที่สุด ทฤษฎีที่น่าเชื่อที่สุดคือดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกนั่นเอง





ปี ค.ศ.1980 : ลูอิส อัลวาเรซ (Luis Alvarez) นักฟิสิกส์ และ วอลเทอร์ อัลวาเรซ (Walter Alvares) นักธรณีวิทยาสองพ่อลูกชาวอเมริกัน เสนอทฤษฎีว่า ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เมื่อ 65 ล้านปีก่อนในอดีต เพราะโลกถูกดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางชน

ก่อนการเสนอทฤษฎีโดยนักวิทยา ศาสตร์สองพ่อลูกอัลวาเรซ มีทฤษฎีหลายทฤษฎีอธิบายสาเหตุการสูญพันธุ์ของสัตว์ยักษ์จำพวกไดโนเสาร์ ซึ่งครองความเป็นเจ้าโลกอยู่นานถึงประมาณ 150 ล้านปี ก่อนที่จู่ๆ จะสูญพันธุ์ ไปเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ทฤษฎีที่เสนอ มีเช่น ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาอย่างรุนแรงทั่วโลก คือ เกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพลมฟ้าอากาศ กล่าวคือ อากาศหนาวเย็นอย่างมาก ไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลือดเย็น ร่างกายไม่สามารถปรับอุณหภูมิสู้อากาศที่หนาวเย็นได้ หรือไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เพราะเกิดการระเบิดของซูเปอร์โนวา ใกล้โลก ทำให้โลกถูกถล่มด้วยกัมมันตภาพรังสีจากอวกาศ หรือไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เพราะถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กๆ ขโมยไข่ หรือไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เพราะไข่ของไดโนเสาร์ เกิดมีเปลือกหนาผิดปกติ ทำให้ไข่ไดโนเสาร์ฟักตัวไม่ได้ และทฤษฎีอื่นๆ อีก

ในปี ค.ศ.1980 สองนักวิทยาศาสตร์พ่อลูกอัลวาเรซ เสนอทฤษฎีใหม่ขึ้นมาว่า สาเหตุที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เมื่อ 65 ล้านปีมาแล้ว เป็นผลจากมหันตภัยนอกโลก แต่มิใช่การระเบิดของซูเปอร์โนวา หากเป็นเพราะโลกถูกถล่มด้วยดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย

หลักฐานที่สองนักวิทยาศาสตร์พ่อลูกอัลวาเรซ ใช้ประกอบการเสนอทฤษฎีโลกถูกชน คือ การค้นพบธาตุอิริเดียม ในชั้นดินหินบางๆ ซึ่งเป็นชั้นอยู่ใต้ดิน และมีอายุประมาณ 65 ล้านปี

อิริเดียม เป็นธาตุหนัก เป็นธาตุที่มีอยู่กับโลกตั้งแต่เมื่อโลกกำลังก่อกำเนิด แต่มาถึงปัจจุบัน บรรดาธาตุอิริเดียมที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกแต่เดิมมา ล้วนจมไปอยู่ที่ตรงใจกลางโลก

แล้วอิริเดียมที่พบอยู่ใต้ดิน ไม่ลึกนัก อายุ 65 ล้านปีมาจากไหน ?

นัก วิทยาศาสตร์สองพ่อลูกอัลวาเรซ เสนอว่า ต้องมาจากนอกโลก และอาจจะมากับดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย หรืออุกกาบาตในอวกาศที่มาชนโลก เนื่องจากอิริเดียมเป็นธาตุที่พบอยู่ในอุกกาบาต ดาวเคราะห์น้อย และดาวหาง

หลัก ฐานอิริเดียมที่พบอยู่ในชั้นดินหินบางๆ อายุประมาณ 65 ล้านปีนั้น ในตอนแรก สองพ่อลูกอัลวาเรซ ค้นพบในประเทศอิตาลี แล้วต่อๆ มา ก็พบอยู่ในชั้นดินหินบางๆ ใต้พื้นผิวโลกหลายแห่ง

ในระยะแรกๆ สองพ่อลูกอัลวาเรซ เสนอทฤษฎีว่า เป็นไปได้ที่ เมื่อ 65 ล้านปีมาแล้ว โลกถูกถล่มด้วยกองทัพดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย แล้วเกิดสภาพ "ฤดูหนาวนิวเคลียร์" บนโลก ทำให้โลกตกอยู่ในสภาพมืด หนาวเย็นอยู่นานหลายเดือน ไดโนเสาร์จึงสูญพันธุ์

ต่อๆ มา ก็มีการค้นพบหลุมอุกกาบาตขนาดยักษ์ อยู่ใต้ดินที่อ่าวเม็กซิโก มีขนาดปากหลุมกว้างเกือบสองร้อยกิโลเมตร และส่วนหนึ่งของหลุมอุกกาบาตใต้ดินนี้ ก็อยู่ใต้พื้นดินซึ่งเป็นที่ตั้งของ เมืองชิกซูลุบ (Chicxulub) ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญสนับสนุนทฤษฎีโลกถูกชน เมื่อ 65 ล้านปีก่อน

มาถึงปัจจุบัน ทฤษฎีไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เพราะโลกถูกชนเมื่อ 65 ล้านปีก่อน เป็นทฤษฎีที่ได้รับความสนใจมากที่สุด และสิ่งที่ชนโลก จนกระทั่งเกิดหลุมอุกกาบาตยักษ์อยู่ใต้ดินที่อ่าวเม็กซิโกนั้น น่าจะเป็นดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย

และ ล่าสุด หลักฐานค้นพบต่อๆ มา สนับสนุนทฤษฎีว่า สิ่งที่ชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อนนั้น เป็นดาวเคราะห์น้อย มีขนาดเกือบหรือประมาณ 10 กิโลเมตร

100 ปี ดาราศาสตร์โลก-หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 22 พฤศจิกายน 2543




หากโลกนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม... (4)

วันที่ 26 ธ.ค. (ใกล้ปีใหม่แล้วนะครับ) ยุคเทอร์เชียรี (Tertiary period)
65 ล้านปีที่แล้ว


The age of Mammals begins

แบ่งเป็น 5 สมัยได้แก่ Pliocene Epoch, Miocene Epoch, Oligocene Epoch, Eocene Epoch, Paleocene Epoch

ตลอด ช่วงนี้มีการเกิดเทือกเขาขนาดใหญ่ขึ้นทั่วโลก ระดับน้ำทะเลลดลงเพราะการก่อตัวของน้ำแข็งขั้วโลก ทุ่งหญ้าเข้ามาแทนที่ป่าเฟิร์น แผ่นทวีปแยกห่างจากกันจนเริ่มคล้ายปัจุบัน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวิวัฒนาการแยกสายกันไปตามถิ่นที่อยู่ที่มีลักษณะเฉพาะ ตัว ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่อาจประเมินค่าได้




ยุคเทอร์เชียรี่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์เลี้ยงด้วยนม



สัตว์ เลื้อยคลานหยุดความหลากหลายทางวิวัฒนาการในยุคนี้ จระเข้ครองตำแหน่งสัตว์เลื้อยคลานที่ใหญ่ที่สุด งูมีจำนวนเพิ่มขึ้นเหมาะสมกับภูมิประเทศที่เป็นทุ่งหญ้า นกเริ่มวิวัฒนาการหลากหลายไม่แพ้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

นักชีววิทยาแบ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ได้แก่ พวก ที่ออกลูกเป็นไข่ (Subclass Prototheria) พวกที่ออกลูกเป็นตัวและมีถุงหน้าท้อง (Subclass Theria -Infraclass Metatheria) และพวกมีสายรก (Subclass Theria -Infraclass Eutheria) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคนี้จะเป็นบรรพบุรุษของสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงทั้งมวลที่เราเห็นกันในปัจจุบัน




ม้าโบราณไฮราโคทีเรียม ขนาดเล็กกว่าม้าปัจจุบันมากกว่า 2 เท่า



ไม่ว่าจะเป็น ม้าโบราณไฮราโคทีเรียม (Hyracotherium) ที่เป็นเหยื่ออันโอชะของจระเข้บกและนกยักษ์ไดอาทรีม่า (Diatryma) หรือเมโซนิกส์ (Mesonyx) ที่หวนกลับสู่ทะเลและกลายเป็นบรรพบุรุษของวาฬและโลมา หรือสัตว์ร่อนเวหา อิคาโรนิคเทอริส (Icaronycteris) บรรพบุรุษของค้างคาว หรือสัตว์คล้ายฮิปโปแต่ดันเป็นบรรพบุรุษของช้างอย่าง โมริเทอเรียม (Moeritherium)




บรรพบุรุษช้างหน้าตาคล้ายฮิปโปและอาศัยตามหนองน้ำ



...และแน่นอนที่สุด สมัยไมโอซีนซึ่งอุณหภูมิเริ่มเย็นลง พวกไพรเมท (Primates) ก็เริ่มปรากฏ ต้นกำเนิดของมนุษยชาติ...


วันสุดท้ายของปี 31 ธ.ค. ยุคควอเทอร์นารี (Quaternary period)
5 ล้านปีที่แล้ว


สืบ เชื้อสายมาจากลิงไม่มีหาง! ตายจริง หวังว่าคงไม่ใช่เรื่องจริง แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราก็จงมาช่วยกันสวดอ้อนวอนขออย่าให้สาธารณชนรู้เรื่องนี้

-คำกล่าวของภรรยาบิชอปแห่งวูสเตอร์ หลังจากได้รับฟังคำอธิบายเรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน



ยุคนี้แบ่งออกเป็น 2 สมัยคือ Pleistocene epoch และ Holocene epoch ในยุคนี้เกิดยุคน้ำแข็งขึ้นหลายครั้ง ทำให้สภาพภูมิประเทศในแต่ละท้องที่แปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทวีปต่างๆแยกตัวกันอย่างชัดเจน ยุคน้ำแข็งแต่ละครั้งทำให้เกิดการคัดเลือกตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตหนึ่งสูญพันธุ์ อีกสิ่งมีชีวิตหนึ่งเข้ามาแทนที่ แม้ว่าพวกไพรเมทปรากฏขึ้นครั้งแรกในยุคเทอร์เชียรี แต่กว่ามนุษย์จะเสนอหน้าลืมตาดูโลกนี้เป็นครั้งแรกก็ใกล้ปีใหม่เต็มที (ราว 1.8 ล้านปีที่แล้วเกิดสกุลโฮโม)



วิวัฒนาการของมนุษย์ (Click เพื่อขยายภาพ)

รายละเอียดของกำเนิดมนุษย์ขอไม่กล่าวถึง ณ ที่นี้ และสามารถอ่านรายละเอียด(ที่ไม่น่าเบื่อ)ได้ตาม reference ด้านล่างครับ

...นี่คือการเดินทางอันยาวนานของสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่ต้นปีที่โลกถือกำเนิด ผ่านความว่างเปล่าไร้ซึ่งชีวิตใดๆยาวนานกว่า 3 เดือน (1,000 ล้านปี) และมีแต่ความน่าเบื่อด้วยสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ครองโลกนาน 8 เดือน (3,000 ล้านปี) ใช้เวลาอีกสองสัปดาห์ (100 ล้านปี) กว่าที่จะขึ้นมาสูดอากาศหายใจบนบก ผืนโลกเต็มไปด้วยไดโนเสาร์ราวๆสองอาทิตย์ (100 ล้านปี) แล้วจบลงด้วยพวกเราที่ได้ฉลองวันปีใหม่ในวันสุดท้ายของปี (~1 ล้านปี)

มนุษย์เอ๋ย อย่าลำพองใจ




References:

Bill Bryson, ประวัติย่อของเกือบทุกสิ่ง. สำนักพิมพ์วงกลม. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2551

ประเวศ วะสี (บรรณาธิการ), ธรรมชาติของสรรพสิ่ง การเข้าถึงความจริงทั้งหมด. สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2547

ธนิก เลิศชาญฤทธิ์, ตามรอยกำเนิดมนุษย์. สำนักพิมพ์สารคดี. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2550

คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ และทีมงานต่วย’ตูน, วิวัฒนาการของชีวิต. สำนักพิมพ์ บริษัท พี.วาทิน พับลิเคชั่น. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น